ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยมีประชากรที่เป็นผู้สูงวัยจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกัน สุขภาพของคนวัยนี้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการใส่ใจดูแล โดยหนึ่งในนั้นมีเรื่องภาวะสมองเสื่อมที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
รศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสภาวะอาการดังกล่าว ว่า สมองเสื่อมเป็นภาวะที่มีการสูญเสียความสามารถของสมองหลายๆด้าน ทั้งความจำ ความเข้าใจ การสื่อสาร ทิศทาง การคำนวณ การตัดสินใจ รวมทั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ จนมีผลกระทบต่อกิจกรรมที่เคยทำได้ในชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมของผู้ป่วย การสูญเสียความสามารถด้านต่างๆเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลานานเป็นเดือนเป็นปี
ภาวะสมองเสื่อมมักพบในผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุมีหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือโรคอัลไซเมอร์ รองลงมาคือสมองเสียหายจากโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับสัญญาณเตือนที่สำคัญของภาวะสมองเสื่อมระยะแรก ได้แก่ 1.สูญเสียความจำระยะสั้น เช่น ลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมนัดหมายสำคัญ พูดซ้ำ ถามซ้ำ วางของผิดที่แล้วหาไม่เจอ ลืมทางกลับบ้าน
2. สติปัญญาด้อยลง ตัดสินใจผิดพลาด เช่น คิดเลขไม่ถูกต้อง ตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ไม่ได้ วางแผนล่วงหน้าไม่ได้
3. มีปัญหาเรื่องภาษา เช่น พูดผิด นึกคำพูดที่ถูกต้องไม่ได้
4. สับสนเรื่องเวลา สถานที่ และทิศทาง เช่น จำวัน-วันที่ไม่ได้ สับสนกลางวัน-กลางคืน จำทางกลับบ้านไม่ได้ หาทางเข้าห้องน้ำไม่พบ
5. ทำกิจกรรมประจำวันที่เคยทำไม่ได้ เช่น ไขกุญแจเปิด-ปิดล็อคประตูไม่ได้ ลืมใส่เครื่องปรุงอาหาร หรือนึกไม่ออกว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง
6. ขาดความคิดริเริ่ม เช่น เฉื่อยๆ ซึมๆ ไม่พูดคุย ไม่ทำอะไร นอนทั้งวัน
7. อารมณ์แปรปรวน เช่น หงุดหงิด โกรธง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล
8. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น เก็บตัว ไม่สนใจสังคม ไม่ดูแลความสะอาดของร่างกาย แต่งตัวไม่เรียบร้อยหรือผิดกาลเทศะ
พึงระลึกว่าอาการเหล่านี้ (โดยเฉพาะในระยะแรกของโรค) อาจไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ทำให้คนใกล้ชิดสังเกตอาการผิดปกติได้ยาก หากคนใกล้ชิดพบสัญญาณเตือนเหล่านี้ ควรแนะนำผู้ป่วยให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัย หาสาเหตุของภาวะภาวะสมองเสื่อม และรักษาได้ทันท่วงที เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยังมี 10 วิธีลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้ ดังนี้ 1.ขยันออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้ ควรออกกำลังกายให้หัวใจเต้นเร็วหรือคาร์ดิโออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือถ้าไม่มีเวลาจริง ๆ ออกกำลังกายน้อยก็ยังดีกว่าไม่ออกกำลังกายเลย
2. ตรวจเช็คความดันเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง (แม้จะไม่มีอาการผิดปกติ) สำหรับคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ความดันเลือดตัวบน (systolic blood pressure) ไม่ควรเกิน 130 มิลลิเมตรปรอท
3. พยายามดูแลตนเองอย่าให้อ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน เพื่อลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และโรคอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่สมองเสื่อม
4. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ
5. เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง และมลภาวะในอากาศ โดยเฉพาะการออกนอกบ้านในช่วงเวลาที่มีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงๆ
6. อย่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังมากๆ หมั่นสังเกตการณ์ได้ยินของตัวเอง ถ้าไม่ค่อยได้ยินเสียงพูดในโทรศัพท์หรือเสียงสนทนาชัดเจน หรือต้องเปิดวิทยุหรือทีวีเสียงดังๆ ขอให้ปรึกษาแพทย์ด้านหู-คอ-จมูก เพื่อให้ตรวจเช็คการได้ยิน อย่ารำคาญหรืออายที่จะใส่เครื่องช่วยฟัง ถ้าการได้ยินของท่านลดลงมาก
7. อย่าให้ศีรษะได้รับการกระทบเทือน ใส่หมวกกันน็อคเสมอเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์หรือเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง
8. ถ้าท่านยังอยู่ในวัยเรียน พยายามอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุด แม้จบการเรียนแล้วก็ควรหมั่นใช้สมอง อ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้มาก
9. พยายามพบปะเพื่อนฝูง เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มาก ๆ
10. ถ้ารู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์เครียด หดหู่ เศร้า ไม่เบิกบาน หรือเบื่อหน่าย ไม่อยากพูดคุยกับใคร ท่านอาจเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคนี้รักษาหายได้ ดังนั้น อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
ถ้าท่านปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ได้มากข้อเท่าไร โอกาสที่ท่านจะเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อถึงวัยสูงอายุ ก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น