สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งผลิตโดยบริษัทเอเอสเอ็มแอล หลังสหรัฐออกข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีแบบเดียวกันนี้ เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 7 ก.ย. ซึ่งเอเอสเอ็มแอลจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตส่งออกได้โดยตรงกับรัฐบาล แทนการให้สหรัฐรับผิดชอบการส่งออกเครื่องจักรดังกล่าวนอกสหภาพยุโรป (อียู)

ก่อนหน้านี้ เนเธอร์แลนด์ไม่เคยใช้ข้อจำกัดกับอุปกรณ์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมในการส่งออกโดยวอชิงตัน ส่งผลให้บริษัทต้องขอใบอนุญาตจากสหรัฐ

น.ส.เรเนตต์ เคลเวอร์ รมว.การค้าต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า เธอตัดสินใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งออกอุปกรณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน” โดยข้อจำกัดใหม่ครอบคลุมอุปกรณ์ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากที่เคยประกาศ เมื่อเดือน ก.ย. 2566

ด้านเอเอสเอ็มแอลออกแถลงการณ์ว่า มาตรการนี้จะช่วยประสานแนวทางในการออกใบอนุญาตส่งออก “การประกาศนี้คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อแนวโน้มทางการเงินของเราในปี 2567 หรือสถานการณ์ในระยะยาวของเรา” บริษัทกล่าว

ก่อนหน้านี้ เนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นร่วมกับสหรัฐ ในการกำหนดข้อจำกัดการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปขั้นสูง เพื่อป้องกันไม่ให้จีนได้รับทรัพยากรที่ละเอียดอ่อน ซึ่งอาจนำไปใช้ในอาวุธและเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) รัฐบาลเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญ กับการใช้งานทางทหารขั้นสูง “ดังนั้น การส่งออกอุปกรณ์ประเภทนี้ โดยไม่ได้รับการควบคุม อาจส่งผลต่อผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงของประเทศ” แถลงการณ์ระบุ

เอเอสเอ็มแอลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อกำหนดที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ จะถูกใช้กับเครื่องทวินสแกน เอ็นเอ็กซ์ที:1970ไอ และ 1980ไอ ดียูวี เช่นเดียวกับระบบเครื่องพิมพ์หิน ซึ่งใช้ในการผลิตไมโครชิป ขณะที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า จะประเมินใบขออนุญาตเป็นรายกรณี “และไม่ถือเป็นการห้ามส่งออก”

“เราได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและมีเป้าหมาย เพื่อลดการหยุดชะงักของกระแสการค้าโลก และห่วงโซ่คุณค่า” เคลเวอร์ย้ำ.

เครดิตภาพ : AFP