เมื่อวันที่ 6 ก.ย.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมแผนพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) และส่งเสริมความรู้การผลิตสินค้าได้มาตรฐานในตลาดออนไลน์แบบ Learn to earn โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผอ.สบว. และนายสมเจตน์ พันธ์พรม ผอ.ศูนย์ PISA พร้อมด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากร สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และผู้บริหารโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบออนไลน์ Zoom meeting
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ในการประชุมประสานภารกิจที่ผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาตามแนวคิดวิเคราะห์ โดยให้เริ่มจากการอ่านที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาความคิดเชิงตรรกะและการเชื่อมโยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้แก่เด็ก จึงไม่ควรมองข้ามโรงเรียนในสังกัด สศศ. และในอนาคต การยกระดับมาตรฐานการศึกษาจะต้องขยายไปสู่ 245 เขต + 1 (สศศ.) ต่อไป ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างโรงเรียนพี่-โรงเรียนน้อง จะสามารถส่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมต่อนักเรียน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนในสังกัด สศศ. ซึ่งทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และสามารถนำไปเป็นต้นแบบที่เข้มแข็งให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศได้ ทั้งนี้ ผู้บริหารต้องเปลี่ยนมุมมอง อย่ามุ่งเน้นเฉพาะ “INPUT” ที่เกิดจากความหลากหลายมากเกินไป จนไม่สามารถทำให้งานวิชาการโดดเด่นได้ รวมถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาตามแนวทาง PISA เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เราต้องเปิดโอกาสให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองจากการอ่านที่คุ้นเคย และถูกฝึกฝนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถต่อยอดสิ่งที่ถนัดและสนใจได้ โดยอาศัยพื้นฐานของการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์จริง
.
ในส่วนของการยกระดับการศึกษาตามแนวทางการสอบ PISA นั้น เชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายได้ร่วมพูดคุยและปรับปรุงสิ่งที่ท้าทายให้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง ซึ่งเด็กนักเรียนมีความคุ้นเคยกับข้อสอบที่ออกแบบเป็นสถานการณ์จำลอง ทำให้พวกเขามีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ การฝึกคิดวิเคราะห์ผ่านข้อสอบที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน จะส่งเสริมทักษะเหล่านี้ ซึ่งเป็นจุดเด่นของโรงเรียนในสังกัด สศศ. ที่เน้นพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพอย่างเข้มข้น ซึ่งจากข้อมูลการทดสอบระบบ PISA ของโรงเรียนน้องในสังกัด สศศ. พบว่า นักเรียนไม่รู้สึกเบื่อหน่ายและมีความคุ้นเคยกับลักษณะของข้อสอบ เพียงแต่อาจยังไม่คุ้นเคยกับการอ่านในปริมาณมาก แต่เด็กสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาข้อสอบกับสถานการณ์ที่พบในชีวิตประจำวันได้ สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาทักษะการอ่านและวิเคราะห์ให้ดียิ่งขึ้น และในส่วนของตลาดออนไลน์ การสร้างแรงบันดาลใจจากโรงเรียนพี่-โรงเรียนน้องซึ่งมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว โรงเรียนในสังกัด สศศ. นอกจากได้รับองค์ความรู้ที่แข็งแกร่งแล้ว ควรเพิ่มความสมบูรณ์ในด้านอื่น ๆ เช่น การศึกษาเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต ต้องชื่นชม สศศ. ที่ได้ริเริ่มโครงการตลาดออนไลน์ ถือเป็นการรวมพลังของนักเรียนในการนำเสนอโปรเจ็กต์สู่ตลาดจริง และจะเป็นการซื้อขายที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งความเข้มแข็งของโรงเรียนพี่-โรงเรียนน้องในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในการส่งเสริมด้านต่าง ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาด
.
“สิ่งที่ขอฝากคือ ในการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ เราจำเป็นต้องเพิ่มมาตรฐานให้สมบูรณ์ โดยเฉพาะในรูปแบบออนไลน์ที่แตกต่างจากที่อื่น ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาภาคภูมิใจ และเป็นเจ้าของสินค้าของตนเอง ซึ่งเกิดจากการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแค่ความรู้จากครูหรือชุมชน แต่ขยายไปถึงกระบวนการ PLC ทั่วประเทศ ที่จะเผยอัตลักษณ์ของเด็ก ๆ และเพิ่มมูลค่าและคุณค่าจากสิ่งที่พวกเขาผลิตขึ้น พร้อมกันนี้ เราต้องสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้ทุกโรงเรียนสามารถก้าวไปพร้อมกันได้ เพื่อให้มั่นใจว่า 100% ของโรงเรียนในสังกัด สศศ. ได้ทุ่มเทและทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างโรงเรียนพี่และโรงเรียนน้อง สามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์ได้สำเร็จ และต้องเสริมสร้างมาตรฐานทางการศึกษาที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง สบว. และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่เต็มเปี่ยมให้เด็กได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. รวมถึง ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ส่งเสริมให้โรงเรียนร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา เพื่ิอนักเรียนทุกคนได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว