กระแสการท้าทายให้ทำภารกิจ “โครมมิง” (Chroming) นั้นได้รับความนิยมมานานตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มาสักระยะหนึ่งแล้ว และกำลังทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความกังวล โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุเสียชีวิตของเด็ก ๆ ที่ทำตามกระแสดังกล่าว
การเล่น “โครมมิง” คือการสูดดมสารเคมีอันตรายจากกระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ เช่น กระป๋องสี, กระป๋องผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เพื่อให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้มหรือ “ฟิน”
เทรนด์มรณะนี้ได้ทำให้มีเด็ก ๆ เสียชีวิตไปแล้วหลายราย ดังที่ตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ได้แก่ ทอมมี-ลี บิลลิงตัน เด็กชายวัย 11 ปีจากเมืองแลงแคสเตอร์ ประเทศอังกฤษ, เอซรา เฮย์นส์ เด็กหญิงวัย 13 ปีจากออสเตรเลีย ส่วน ซีซาร์ วัตสัน-คิง วัย 12 ปีจากเมืองดอนแคสเตอร์ ประเทศอังกฤษก็เกือบจะไม่รอดชีวิต หลังจากร่วมเล่นตามกระแสโครมมิง
ไมเคิล แมคคินนีย์ นายแพทย์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สารเสพติกและการสาธารณสุข อธิบายว่า ในการเล่นโครมมิงนั้น ผู้เล่นจะสูดดมสารเคมีหลายชนิดซึ่งสร้างความเสียหายแก่สุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและในระยะยาว โดยเขาแบ่งออกเป็น 5 ประเภทด้วยกัน
ความเสียหายประการแรกคือส่วนของสมอง แมคคินนีย์ชี้ว่า สารเคมีที่เป็นพิษมีโอกาสที่จะแทรกซึมผ่านทะลุทำนบกั้นระหว่างเลือดและสมอง ทำให้สมองเสียหาย พัฒนาการในการเรียนรู้ถดถอย ซึ่งน่ากังวลมากสำหรับกลุ่มเด็ก ๆ
ความเสียหายประการที่ 2 เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจ โครมมิงทำให้ผู้เล่นมีอาการหัวใจวายได้ในทันที เช่นที่เกิดกับเด็กหญิงชาวออสเตรเลียก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เรียกว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเนื่องจากการสูดดมสารพิษ (Sudden sniffing death syndrome)
ต่อมาคือความเสียหายเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โครมมิงจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรต่อระบบหายใจของผู้เล่น และอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เมื่อสูดดมสารเหล่านี้เข้าไป อาจทำให้เนื้อเยื่อปอดได้รับความเสียหายอย่างถาวร ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว มีภาวะขาดออกซิเจน หรือป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
ความเสียหายประการที่ 4 นั้นเกี่ยวกับตับและไต เพราะการสูดดมสารพิษเข้าไปทำให้ร่างกายต้องทำงานอย่างหนักในการขับสารพิษออกมา ซึ่งมีตับและไตรับหน้าที่นี้ เมื่อมีสารพิษเข้ามามากเกินไป อวัยวะเหล่านี้ก็จะต้องทำงานหนัก ทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว
ความเสียหายประการสุดท้ายคือปัญหาด้านการเสพติดและปัญหาด้านพฤติกรรม แมคคินนีย์กล่าวว่าเด็กและวัยรุ่นที่เข้ามาเล่นตามกระแสโครมมิงอาจกลายเป็นการก่อให้เกิดพฤติกรรม “เสพติดความฟิน” อาจขยับไปสู่กระแสการเล่นแบบอื่นที่เสี่ยงมากขึ้น เป็นอันตรายมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การใช้สารเสพติดเพื่อช่วยให้รู้สึกถึงความเคลิบเคลิ้มได้มากยิ่งขึ้น
แมคคินนีย์ชี้ว่าควรมีการให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลเสียของการเล่นโครมมิงแก่เด็ก ๆ และเยาวชน เนื่องจากเป็นกระแสนิยมในโซเชียลมีเดีย ทั้งครูและผู้ปกครองจำเป็นต้องสอดส่องดูแลอย่างระมัดระวัง เพื่อปกป้องลูกหลาน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง
ที่มา : ladbible.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES