เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่โรงซ่อมอากาศยาน (Hangar) ฝ่ายช่าง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาธุรกิจด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) โดยมีนายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัท การบินไทยฯ และพลอากาศเอกพิบูลย์ วรวรรณปรีชา กรรมการผู้จัดการ TAI เป็นผู้ร่วมลงนาม เพื่อขยาย และยกระดับขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุน และขับเคลื่อนให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

นายเชิดพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการพัฒนา และแสวงหาโอกาส ในการดำเนินธุรกิจด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน เครื่องยนต์อากาศยาน (Aircraft Engines) ชิ้นส่วนอากาศยาน (Aircraft Parts) บริภัณฑ์อากาศยาน (Aircraft Components) และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคำนึงถึงรูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน อาทิ การสนับสนุนการใช้พื้นที่โรงเก็บอากาศยานเพื่อจอด หรือซ่อมบำรุงอากาศยาน 

นายเชิดพันธ์ กล่าวอีกว่า การสนับสนุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากร ในการซ่อมบำรุงอากาศยาน การฝึกอบรม รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการซ่อมบำรุง เป็นต้น โดยความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการสนับสนุนโยบายของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้อุตสาหกรรมการบิน เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต (New S-curve) ของภาครัฐด้วย ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี 

นายเชิดพันธ์ กล่าวด้วยว่า หากธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ไม่มีความเข้มแข็ง หรือไม่ทำให้สามารถแข็งแรงได้ การทำให้อุตสาหกรรมการบิน และการขนส่งทางอากาศในภาพรวมแข็งแรง และเป็นฮับการบินก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ MRO เป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะเวลานี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ทุกสายการบินทั่วโลก ต่างมองหาศูนย์ซ่อมอากาศยาน เพื่อซ่อมบำรุงอากาศยานที่จอดหยุดทำการบินไปหลายปี ให้สามารถกลับมาให้บริการ และทำให้ธุรกิจการบินขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ปัจจุบันศูนย์ซ่อมต่างๆ มีสายการบินมาใช้บริการค่อนข้างเต็มทุกแห่ง ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยทำให้ศูนย์ซ่อมของไทยสามารถรองรับลูกค้าสายการบินได้เพิ่มมากขึ้นด้วย.