สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ว่า โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บาราคาห์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของตะวันออกกลาง เสร็จสมบูรณ์ และเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 ซึ่งเป็นเครื่องสุดท้าย เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว โดยจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 40 เทระวัตต์-ชั่วโมง

โรงไฟฟ้าบาราคาห์จะผลิตไฟฟ้าร้อยละ 25 ของความต้องการทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเทียบเท่ากับการบริโภคไฟฟ้าประจำปีของประเทศนิวซีแลนด์ โดยจะทำหน้าที่จ่ายไฟให้กับบริษัทต่าง ๆ รวมไปถึงบริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี (เอดีเอ็นโอซี) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก

“บาราคาห์” ซึ่งแปลว่า “พร” ในภาษาอาหรับ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2563 ซึ่งขณะนั้น เตาปฏิกรณ์เพียง 1 เครื่อง จากทั้งหมด 4 เครื่อง ได้เริ่มทำงาน และมีรายงานด้วยว่า อาจมีการสร้างเตาปฏิกรณ์เพิ่มอีก

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล-นาห์ยาน ประธานาธิบดีแห่งยูเออี ทรงยกย่องความสำเร็จดังกล่าว ว่าเป็นก้าวสำคัญของการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ “เราจะยังคงให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนของเราในวันนี้และวันพรุ่งนี้ต่อไป” พระองค์ตรัสผ่านเอ็กซ์

ตามข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะถูกแยกชิ้นส่วน เมื่อหมดอายุขัยการทำงาน ในอีกประมาณ 60-80 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน ยูเออีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุด ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (โอเปก) ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 33,540 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ให้เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2593

เมื่อสิ้นปี 2566 ยูเออีเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ครั้งที่ 28 ซึ่งมีมติเห็นชอบการเปลี่ยนผ่านเพื่อลดระดับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

รัฐบาลยูเออีย้ำว่า ความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของประเทศ มีจุดประสงค์ “เพื่อสันติภาพ” และพวกเขาไม่ฝักใฝ่ในโครงการเสริมสมรรถนะ หรือเทคโนโลยีรีไซเคิลนิวเคลียร์ ดังเช่นประเทศตรงข้ามอ่าวเปอร์เซียอย่างอิหร่าน ซึ่งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สร้างโดยรัสเซีย นอกชายฝั่งของจังหวัดบูเชห์ร และดำเนินโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน.

เครดิตภาพ : AFP