ตามที่กลุ่มชาวประมงสมุทรสงคราม และคณะทำงานสภาทนาย ได้นำเอกสารหลักฐานยื่นฟ้องบริษัทเอกชนนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” เป็นคดีแบบกลุ่มต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกค่าเสียหายให้กับประมงเพาะเลี้ยง-ประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสงคราม รวมเกือบ 2,500 ล้าน นั้น
‘ชาวประมงสมุทรสงคราม’ ยื่นฟ้องผู้บริหาร ‘บ.เอกชน’ เรียกเงินเยียวยา 2.48 พันล้านบาท
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงมีคำขอบังคับให้บริษัทฯ แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”
สืบเนื่องจากการที่บริษัทฯ เป็นผู้ขออนุญาตและนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากประเทศกานาคือ ปลาหมอคางดำ (Sarotherodonmelanotheron) ซึ่งเป็นสัตว์น้ำอันตรายต่อระบบนิเวศน์และสัตว์น้ำท้องถิ่น เข้ามาทดลองพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ แต่กลับทำให้เกิดการหลุดรอดของปลาดังกล่าว จากแหล่งเพาะเลี้ยงออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ จนชาวบ้านได้รับความเสียหายมหาศาล
นอกจากฟ้องร้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ตัวแทนจากสภาทนายความ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพ ประมงพื้นบ้าน จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 54 คน ก็จะยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบไปด้วย 1.กรมประมง 2.อธิบดีกรมประมง 3.คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความ ปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8. อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 9. คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและ ชายฝั่ง 10. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 13. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะแห่งชาติ 14.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15. อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16. กระทรวงมหาดไทย 17.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 18.กระทรวงการคลัง
ซึ่งผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองทั้ง 54 คน ได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้องตามเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงินจากบริษัทเอกชน ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย.