เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระ 2-3 ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย โดยตั้งแต่ช่วงบ่าย มีการพิจารณากันอย่างกว้างขวาง ไล่ตั้งแต่มาตรา 26 กระทรวงอุตสาหกรรม วงเงิน 3,147,733,200 บาท มาตรา 27 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการไม่สังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี จำนวน 43,602,295,000 บาท มาตรา 28 งบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 24,042,399,800 บาท จนเข้าสู่การพิจารณามาตรา 29 งบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 69,931,862,800 บาท

โดยเมื่อเวลา 16.15 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงงบฯ ดังกล่าว ในหลายส่วนว่า การปรับเปลี่ยนงบประมาณในครั้งนี้ ส่วนงบประมาณของธนาคารในกำกับของรัฐมาเป็นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งทางสถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้เสนอมา เพื่อให้สามารถชะลอการชำระหนี้สินจากมาตรา 28 บางส่วน ไปดำเนินการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของภาครัฐได้ ตนจึงขอยืนยันว่า ไม่กระทบต่อความมั่นคง หรือเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ยังมีความแข็งแกร่งเหมือนเดิมในระดับที่สูงมาก

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของกระทรวงคมนาคม เป็นภารกิจที่ต้องรอการแถลงนโยบายรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องพึ่งพาการชดเชย และการใช้เงินของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะกลไกนี้ต้องผ่านพระราชบัญญัติตั๋วร่วม และกองทุนต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกที่เราสามารถกำหนดได้ เพื่อลดภาระที่จะเกิดกับงบประมาณรัฐให้ได้มากที่สุด และสุดท้ายก็คงจะต้องนำเข้าสภา เพื่อถกเถียง และหาข้อสรุปร่วมกัน สำหรับวิธีการกำหนดรายจ่ายในกระบวนการทำงบประมาณ รวมถึงการรวบรวมรายละเอียดตัวเลขต่างๆ นั้น เป็นข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ กรรมาธิการเสียงข้างมากขอรับไว้ และในฐานะที่ตนทำงานประสานร่วมกับคณะรัฐมนตรีด้วย จะนำเรื่องนี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับใช้ต่อไปในอนาคต

หลังจากอภิปรายเล้วเสร็จ ที่ประชุมจึงได้มีมติเห็นชอบในมาตรา 29.