สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า ส่วนแบ่งรายได้แรงงานทั่วโลก หรือสัดส่วนของรายได้รวมในบริษัท ที่ได้รับจากการทำงาน ลดลง 1.6% นับตั้งแต่ปี 2547

“แม้ตัวเลขข้างต้นดูเล็กน้อยในแง่ของเปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2567 มันถือเป็นการขาดแคลนรายได้แรงงานประจำปีมากถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 80 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับรายได้ที่คนงานจะได้รับ หากส่วนแบ่งรายได้อยู่ในระดับคงที่ตั้งแต่ปี 2547” ไอแอลโอ ระบุในรายงาน

ทั้งนี้ งานศึกษาชี้ให้เห็นว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ส่วนแบ่งรายได้แรงงานลดลง อีกทั้งวิกฤติระดับโลก ยังทำให้ความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายได้จากเงินทุน ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนร่ำรวยมากขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านนายเซเลสเต เดรก รองผู้อำนวยการของไอแอลโอ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการเพื่อรับมือความเสี่ยงของส่วนแบ่งรายได้แรงงานที่ลดลง และจำเป็นต้องมีนโยบายที่ส่งเสริมการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเสรีภาพในการสมาคม, การต่อรองร่วมกัน และการบริหารจัดการแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และสร้างเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ ไอแอลโอยังเน้นย้ำว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงระบบอัตโนมัติ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ส่วนแบ่งรายได้แรงงานลดลงเช่นกัน พร้อมกับแสดงความกังวลเป็นพิเศษว่า การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มีความเสี่ยงที่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น.

เครดิตภาพ : AFP