เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่รัฐสภา นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส.ระนอง พรรคภูมิใจไทย และเลขานุการณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ รับหนังสือร้องเรียนจาก นายวรานนท์ เกลื่อนสิน สมาชิกสภาองค์การบริหารจังหวัด (ส.อบจ.) ระนอง ที่ขอให้กรรมาธิการฯเสาะหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดระเบียบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง ที่ทำหน้าที่การประชุมสภา หรือปฏิบัติหน้าที่ทุกๆ ส่วนว่า เป็นไปตามกฎหมายการป้องครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่  

นายวรานนท์ กล่าวว่า ในการประชุมสภาท้องถิ่น ซึ่งคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะจนถึงขณะนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ของ อบจ.ระนอง ยังไม่สามารถผ่านการการประชุมและมีมติออกมาได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายก อบจ.ระนอง มีการลาออกจากตำแหน่ง แล้วมาสมัครใหม่ ก็เป็นสิทธิที่เขาสามารถทำได้ แต่ปัญหาคือ คนที่ยังปฏิบัติหน้าที่ใน อบจ. นั้น ไม่ว่าจะเป็นปลัด อบจ. ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ. ไม่ยอมยื่นญัตติร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการดูแลในสิ่งจำเป็นของประชาชนทั้งจังหวัด ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ อีกทั้งประธานสภาที่ดำเนินการประชุม ก็รีบปิดการประชุม ทั้งๆ ที่มีวาระที่ต้องพิจารณาอยู่กว่า 10 วาระ ทั้งนี้ ปลัดอ้างว่า ตัวเองเพียงปฏิบัติหน้าที่แทนนายกเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่หลายจังหวัดที่ไม่มีนายก อบจ. จากเหตุลาออกนั้น กลับสามารถนำญัตติเข้าที่ประชุมได้ อย่างไรก็ตาม มีการอ้างด้วยว่า เรื่องนี้ต้องมีการหารือไปยังท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล แต่ตนเห็นว่า นี่เป็นเกมการเมืองเพื่อประวิงเวลาเท่านั้น เพราะตามกฎหมายท้องถิ่นเรื่องการประชุมสภา ก็รู้อยู่แล้วว่าทำได้หรือไม่

นายวรานนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าเมื่อมีคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษอยู่ จึงมายื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯ ช่วยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่ทำไปทั้งหมดนั้น เป็นไปตามรูปแบบของ พ.ร.บ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็น อบจ.บางแห่งทำได้ แต่ อบจ.ระนอง ทำไม่ได้ ถือเป็นการดำเนินการ 2 มาตรฐาน

“ทำไมจังหวัดอื่นๆ ปลัดสามารถทำได้โดยปลัด แต่ทำไมที่จังหวัดระนองถึงอ้างว่านำญัตติเข้าไม่ได้ และประวิงเวลาในการหารือ เพื่อหวังนัยทางการเมือง หรือมีการจับมือกับฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ก็เป็นข้อสงสัยผมดูแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นใน อบจ.ระนอง ไม่สมควรจะเกิดขึ้น จึงฝากให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานที่จะนำมาใช้ตาม พ.ร.บ.ท้องถิ่นต่อไป” นายวรานนท์ กล่าว.