วันที่ 5 ก.ย. มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย สืบเนื่องจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ได้มอบหมายให้ นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สาเหตุไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เชียงราย ในช่วงเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี พร้อมนายอนุทิน ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์อุทกภัย เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 67

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 67 นายอนุทิน จึงได้ออกหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึงข้อสังเกตต่อการชี้แจงของผู้ว่าฯ เชียงราย ตามหนังสือลับ ที่ มท 0100/324 เรื่องรายงานผลการดำเนินการ ระบุว่า รมว.มหาดไทย ได้พิจารณาจากรายงานผลการดำเนินการของปลัดกระทรวงมหาดไทย และรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แล้วเห็นว่า

1. กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ชี้แจงเหตุผลที่ไม่เดินทางกลับพื้นที่ในวันที่ 23 ส.ค. โดยอ้างว่ามีเที่ยวบินเที่ยวสุดท้ายออกจากกรุงเทพมหานคร ในเวลา 19.40 น. และเกรงว่าภารกิจจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ได้เดินทางกลับในวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เที่ยวบินเวลา 11.20 น. และเดินทางถึงจังหวัดเชียงราย ในเวลา 13.11 น. นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากในข้อเท็จริงยังมีเที่ยวบินที่ออกเดินทางไปจังหวัดเชียงราย ในช่วงเวลาเช้าของวันที่ 24 สิงหาคม 2567 อีกหลายเที่ยวบิน ได้แก่ สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ ออกเดินทางเวลา 06.30 น. สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ออกเดินทางเวลา 06.50 น. สายการบินแอร์เอเชีย ออกเดินทางในเวลา 07.05 น. และสายการบินไทย ออกเดินทางในเวลา 08.20 น. ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายสามารถเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกับ นายภูมิธรรม ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยได้ ทั้งนี้ จึงเห็นได้ว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ และอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการแล้วจะไม่เกิดกรณีนี้ขึ้น กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมากล่าวอ้างได้

2. กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายอ้างว่า ได้มีการนำเรียนด้วยวาจาให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ถึงเหตุผลที่ไม่เดินทางกลับพื้นที่ โดยมีการมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และร่วมคณะตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยแทนโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ประกอบนั้น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สามารถนำเรียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ ก็ย่อมที่จะรายงานโดยตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ ทั้งทางโทรศัพท์และทางไลน์แอปพลิเคชัน ดังที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้เคยปฏิบัติในการติดต่อรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยตรงเป็นประจำมาโดยตลอด อีกทั้งยังสามารถขออนุญาตเดินทางร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะได้ การกล่าวอ้างนี้จึงเป็นเหตุผลที่ไม่อาจรับฟังได้

3. กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้มีการนำเรียนด้วยวาจาให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบถึงเหตุผลที่ไม่เดินทางกลับพื้นที่ในช่วงเช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2567 และปลัดกระทรวงมหาดไทยยังอนุมัติตามที่แจ้งด้วยวาจา ทั้งที่เหตุผลที่อ้างนั้นไม่สามารถรับฟังได้ ปลัดกระทรวงมหาดไทยควรที่จะสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เร่งเดินทางและกำชับให้ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้จงได้ อีกทั้งเมื่อได้ทราบการรายงานเหตุผลที่ไม่เดินทางกลับพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายแล้ว ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้รายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบ เพื่อให้พิจารณาหรือสั่งการแต่อย่างใด

4. กรณีนี้เป็นกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายชี้แจงเหตุไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ให้ทราบภายใน 3 วัน มิได้เป็นการกล่าวหาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกระทำผิดวินัยตามมาตรา 90 จึงไม่เป็นเหตุให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งยุติเรื่องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 57(2) ประกอบมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แต่อย่างใด อีกทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้เร่งสรุปความเห็นควรยุติเรื่องดังกล่าว โดยยังมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานอันจะเชื่อได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ด้วยความมุ่งมั่น อุตสาหะ เอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนตามควรแก่กรณี

5. การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายรายงานโดยใช้เหตุผลว่า การเดินทางกลับมายังพื้นที่ในช่วงเช้าของวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เป็นระยะยะเวลากระชั้นชิด ไม่ทันในการต้อนรับนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธาธารณภัยจังหวัด ที่จะต้องประจำอยู่ในพื้นที่เพื่อบัญชาการเหตุการณ์และแก้ไขปัญหาในเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย มิใช่เป็นการต้อนรับในลักษณะการตรวจเยี่ยมราชการโดยทั่วไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของกระทรวงมหาดไทย ตามนัยมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำข้อสังเกตดังกล่าว ไปแก้ไขและดำเนินการเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก