นายดำรงค์ศักดิ์ นาคีสังข์ นายอำเภอธวัชบุรี เปิดเผยว่า อำเภอธวัชบุรี เป็นพื้นที่นำร่องของจังหวัดร้อยเอ็ด “ธวัชบุรีโมเดล” ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 90 วัน ระหว่าง 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2567 มีการดำเนินการ 3 ระยะคือ ระยะเตรียมการ ระยะดำเนินการ และส่งต่อความยั่งยืน โดยใช้หลักการ ปลุกพลังชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหายาเสพติด มีส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. กรรมการหมู่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) Re x-ray คนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในพื้นที่ ทุกหมู่บ้านทุกครัวเรือน อายุ 12-65 ปี ทั้ง 12 ตำบล ของอำเภอธวัชบุรี จำนวน 29,000 คน สรุปผลการดำเนินงานการจับกุมคดียาเสพติดอำเภอธวัชบุรีจำนวนคดีทั้งสิ้น 285 คดี ผู้ต้องหา 364 ราย ของกลางยาบ้า 84,302 เม็ด โดย ฝ่ายปกครองอำเภอธวัชบุรี จับกุม 11 คดี ผู้ต้องหา 11 ราย ของกลางยาบ้า 231 เม็ด ตำรวจสภ.ธวัชบุรี จับกุม 274 คดี ผู้ต้องหา 353 ราย ของกลาง 84,071 เม็ด  พบผู้เสพจำนวน 1,749 คน ซึ่งผู้ที่เสพถือว่าเป็นผู้ป่วย ก็เอาเข้าสู่กระบวนการบำบัด ฟื้นฟู ทั้งร่างกาย และจิตใจ ด้วยกระบวนการชุมชนบำบัด CBTX เราทำอย่างเข้มข้น 16 ครั้งด้วยกัน คือเอาผู้เสพทั้ง 1,749 คน เข้าสู่กระบวนการ ในกิจกรรมตามที่ทางสาธารณสุขกำหนด มีการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะทุก 4 วัน  ส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต หวังว่าคนเหล่านี้เขาจะเลิกไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ อีกส่วนคือการปราบปราม เราได้ดำเนินการกับผู้ใช้ ผู้เสพแล้ว เราก็ได้รับข้อมูล ลักษณะ พฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องยาเสพติดจำนวนหนึ่ง  เรารวบรวมข้อมูลส่งให้กับตำรวจ

จากผลการดำเนินงานของอำเภอธวัชบุรี ณ วันนี้ ถือว่าสิ้นสุดระยะเร่งด่วน 3 เดือนแล้ว ในการตรวจหาสารเสพติดจำนวน 16 ครั้ง ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการ 1,749 คน มีผู้ที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัด 900 กว่าคน ก็ถือว่าสำเร็จไป 50% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการบำบัดฟื้นฟูต่อเนื่อง ถ้าหวนกลับมาเสพซ้ำอีก เราก็จะขยายผลติดตามจับกุมผู้ค้ารายย่อยอีก

ในส่วนผู้ที่ผ่านคือตรวจหาสารเสพติด 4 วันต่อครั้ง ถ้าหากครบ 13 ครั้งต่อเนื่องก็ถือว่าผ่าน แต่ถ้าใครไม่ผ่านจะส่งตัวให้ชุมชนเป็นคนตรวจประเมินทุก 4 วัน จนกว่าจะครบ 16 ครั้ง จึงจะได้บัตรพลเมืองสีขาว อีกส่วนที่ส่งดำเนินคดี มีประมาณ 200 กว่าราย อีก 300 รายที่ไม่เข้าร่วมเราก็จะต้องมีการติดตามดำเนินการต่อในระยะต่อไป อีกอย่างสิ่งที่ต้องดำเนินการคือรักษาสภาพในชุมชนให้ได้ ผู้นำ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้ข้อมูลว่ายาเสพติดในพื้นที่เริ่มเบาบางลง ชุมชนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ต่อไปเราจะกำหนดสถานะครัวเรือน ถ้าครัวเรือนใดในหมู่บ้านที่ไม่ยุ่งเกี่ยว หรือที่เกี่ยวข้องอยู่ จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อนำไปสู่กระบวนการบำบัด ใช้มาตรการทางชุมชนกดดัน ขณะเดียวกันชุมชนจะต้องมีการเฝ้าระวังตั้งแต่ระดับครัวเรือน ดูแลบุตรหลาน เยาวชนกลุ่มเสี่ยง ไม่ให้ไปเกี่ยวข้อง โดยใช้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งอำเภอธวัชบุรี ได้รับงบประมาณในการจัดตั้งชุด ชรบ. หมู่บ้านละ 10 คน ครบ 117 หมู่บ้านแล้ว เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังชุมชนไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ได้ง่าย รวมทั้งเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการด้วย  ทุกหมู่บ้าน ก็จัดตั้งกองทุนในการแก้ปัญหายาเสพติด ตามแนวทางของกองทุนแม่ของแผ่นดิน โดยแต่ละหมู่บ้านจะมี คณะกรรมการ มีสมาชิกกองทุนป้องกันแก้ปัญหายาเสพติด มีการระดมทุน ใช้ทุนในการที่จะจัดกิจกรรมเสริมในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการอยู่เวรของ ชรบ. การจัดกิจกรรมให้เยาวชน ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งอันนี้ถือว่าได้ผลมากในการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน  
ล่าสุดทางอำเภอได้จัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชน รุ่นอายุไม่เกิน 13 ปี มีตำบลทุกตำบลส่งทีมนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน ทำให้เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ถือเป็นพลังอย่างหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เขาไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อันนี้ถือว่าดีมาก

นายอำเภอธวัชบุรี กล่าวอีกว่า ผมได้มอบนโยบาย ให้เอาเงินจากกองทุน เข้าไปแก้ไขปัญหายาเสพติด ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ป้องกันเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เน้น “ไม่เริ่ม ง่ายกว่าเลิก” คือ การเลิก มันยากมากเพราะสิ่งแวดล้อมยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะการที่กลุ่มผู้เสพผ่านการบำบัดเขาอาจกลับไปเสพซ้ำได้ จำเป็นต้องรักษาเยาวชนมิให้ไปเกี่ยวข้อง ไม่ให้เริ่มเสพให้ได้ การที่เราได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาและยังไม่ผ่านกระบวนการ ผู้ที่ยังมีพฤติการณ์ค้าอยู่เราจะต้องเฝ้าระวังกลุ่มนี้ไว้โดยใช้มาตรการทางสังคม ในขณะเดียวกันเราก็พัฒนาคุณภาพชีวิต คนที่ผ่านการบำบัดเราก็ส่งเสริมอาชีพให้ ให้เรียนต่อบ้าง ฝึกอาชีพบ้าง หรือ หาตำแหน่งงานให้ เราก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งแรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด พัฒนาชุมชน เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือให้เขาสามารถที่จะมีอาชีพ มีรายได้ และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่ม อันนี้เป็นกระบวนการที่ทางอำเภอธวัชบุรีจะดำเนินการต่อในขั้นตอนการรักษาสภาพ ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

แม้ว่าในกระบวนการของการแก้ไขปัญหายาเสพติดเรายังดำเนินการอยู่แต่สิ่งที่เราได้รับคือความปลอดภัยในพื้นที่ของชุมชนมีมากขึ้น ความตื่นตัว ความร่วมไม้ร่วมมือเราสร้างขึ้นมาได้ คือการปลุกพลังชุมชน แล้วนำผู้เสพผู้ใช้เข้ามาบำบัด ได้เกินกว่าครึ่งร่วมกันพัฒนาในพื้นที่ เพื่อให้เป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติดในระยะต่อไป จากการดำเนินงานเรามีข้อเสนอจากชุดปฏิบัติการคือการนำผู้เสพมาบำบัดฟื้นฟู โดยใช้ระบบชุมชนบำบัดจะได้ผลดียิ่งขึ้น ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับสภาพแวดล้อมในชุมชน การจัดการกับผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่มันก็จะได้ผล ประกอบกับทั้งการบำบัดและปราบปรามผู้ค้ารายย่อยเพราะบำบัดแล้ว ถ้าเขายังจะยังหายาเสพติดในพื้นที่ได้อยู่ เขาอาจถูกชักจูงไปเสพซ้ำได้อีก อีกข้อเสนอคือ ขยายการบำบัดโดยชุมชน CBTX จะสำเร็จได้เฉพาะผู้ใช้ ผู้เสพ หรือผู้ที่มีใจต้องการเลิกเท่านั้น มันจะต้องมีกระบวนการที่สูงขึ้นไปกว่านั้น หรือมีสถานที่ดูแลบำบัดที่มากกว่านี้ โดยกระบวนการทางสาธารณสุข ก็คือ มินิธัญญารักษ์ ใครเสพซ้ำ อยู่ในชุมชนปรับสภาพแวดล้อมเข้ากับชุมชนไม่ได้ ก็ไปอยู่ในนี้ธัญญารักษ์ ในพื้นที่นั้น มีทั้งแพทย์จากโรงพยาบาลธวัชบุรี ทหารจากค่าย พล.ร.6 และ มทบ.27  ตำรวจจาก สภ.ธวัชบุรี และ สภ.ใกล้เคียง ดูแลเป็นอย่างดี  แต่ถ้ายังฝ่าฝืน ก้าวร้าวอยู่ หรือมีพฤติกรรมอยู่ ก็ต้องส่งไปโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีความเข้มงวดกว่านี้ ซึ่งอาจเป็นโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง ในค่ายทหารก็ได้ จึงขอเสนอเป็นแนวทางให้กับผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป