มีปัญหาหน้าหย่อนคล้อยไม่กระชับ มีริ้วรอย ต้องการให้รูปหน้าชัดขึ้นเรียวสวยวีเชฟ กลับมาดูอ่อนเยาว์โดยไม่ต้องผ่าตัด การร้อยไหมเป็นตัวเลือกที่ช่วยได้ ถ้าใครสนใจที่จะร้อยไหมควรรู้ข้อมูลให้พร้อม เพื่อเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง

ชนิดไหมที่นำมาร้อยไหมมีอะไรบ้าง
คนที่กำลังตัดสินใจจะร้อยไหมอาจสงสัยว่าการร้อยไหมมีกี่แบบ มีชนิดไหมแบบไหนบ้าง ซึ่งไหมที่นำมาใช้ร้อยไหมนั้นจะเป็นไหมละลายที่สามารถละลายเองได้ตามธรรมชาติเมื่อครบกำหนดเวลา และไม่ทิ้งสารตกค้างไว้ในร่างกาย โดยไหมละลายสำหรับร้อยไหมมีด้วยกันถึง 3 ชนิดดังนี้

  • PDO (Polydioxanone) มีความยืดหยุ่นสูง มีความแข็งแรง เกิดอาการแพ้ยาก
  • PLLA (Polylactic acid) มีความแข็งแรง คงทน อยู่ได้นาน แต่เปราะง่าย ไม่ยืดหยุ่น
  • PCL (Polycaprolactone) มีความยืดหยุ่นสูง ไม่เปราะง่าย อยู่ได้นาน


ซึ่งลักษณะไหมมีด้วยกัน 4 แบบด้วยกัน

  • ไหมเรียบ ไม่ช่วยในการยกกระชับเพราะไม่มีเงี่ยงไหมให้ยึดเกาะกับผิว เหมาะกับการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิว
  • ไหมเงี่ยง เป็นไหมที่เงี่ยงออกมาจากเส้นไหมอาจจะทิศทางเดียว หรือสองทิศทาง ไหมยึดเกาะกับผิวได้ดี ช่วยยกกระชับผิว และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิว
  • ไหมกรวย มีรูปทรงคล้ายกรวยไอศกรีมอยู่ระหว่างปมไหม ไหมยึดเกาะกับผิวได้ดี ช่วยกระตุ้นคอลลาเจน และอยู่ได้นาน แต่ไหมมีขนาดใหญ่อาจปวดบวม เห็นเส้นไหมบนผิวได้ง่าย
  • ไหมโครงตาข่าย ลักษณะไหมมี 2 ชั้น ชั้นในเป็นไหมเงี่ยง ชั้นนอกเป็นตาข่ายล้อมรอบตัวไหม ไหมมีความแข็งแรงสูง ยกกระชับผิวหย่อนคล้อยได้ดี


ใช้ไหมกี่เส้นในการร้อยไหม

จำนวนเส้นไหมที่ใช้ในการร้อยไหมจะขึ้นอยู่กับปัญหาที่มี และชนิดไหมที่ใช้ โดยปกติแล้วเริ่มต้นที่จะใช้เส้นไหมประมาณ 4 เส้น โดยแบ่งเป็นข้างละ 2 เส้น สำหรับแก้ไขปัญหาใบหน้าหย่อนคล้อย หากมีปัญหาอื่นๆ เช่น มีปัญหาร่องแก้ม แก้มตอบ ตาตก สามารถใช้เส้นไหมเพิ่มขึ้นได้ โดยแพทย์จะเป็นคนประเมินจำนวนเส้นไหมที่ต้องใช้ให้ก่อนร้อยไหม

ร้อยไหมอยู่ได้นานไหม
ระยะเวลาผลลัพธ์ของการร้อยไหมขึ้นอยู่กับชนิดไหมที่เลือกใช้ โดยไหมที่มีการนำมาใช้ร้อยอยู่บ่อยๆ มีระยะเวลาผลลัพธ์ดังนี้

  • ไหมคอลลาเจน เป็นไหมเรียบ อยู่ได้นานประมาณ 6 – 8 เดือน
  • ไหมก้างปลา เป็นไหมเงี่ยง อยู่ได้นานประมาณ 6 – 8 เดือน
  • ไหมทอร์นาโด เป็นไหมเงี่ยง อยู่ได้นานประมาณ 8 – 12 เดือน
  • ไหม Mint เป็นไหมเงี่ยง อยู่ได้นานประมาณ 12 – 18 เดือน
  • ไหม Tesslift เป็นไหมโครงตาข่าย อยู่ได้นานประมาณ 12 – 24 เดือน


การร้อยไหมเจ็บไหม
ร้อยไหมเป็นหัตถการที่ได้รับความนิยมในการยกกระชับ แต่ยังมีหลายคนๆที่ยังไม่กล้าทำ เพราะสงสัยว่าการร้อยไหมเจ็บไหม จริงๆ แล้วการร้อยไหมจะไม่รู้สึกเจ็บในขณะที่ร้อยไหมอยู่ อาจจะรู้สึกถึงเส้นไหมที่กำลังร้อยเข้าไปใต้ชั้นผิว แต่ไม่รู้สึกเจ็บ เนื่องจากมีการฉีดยาชาก่อนที่จะร้อยไหมเพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บ จะรู้สึกถึงความเจ็บแค่ตอนฉีดยาชา และหลังยาชาหมดฤทธิ์จะรู้สึกปวดระบมค่ะ

วิธีเตรียมตัวก่อนร้อยไหม

  • งดยาแอสไพริน (Aspirin) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด วิตามิน และอาหารเสริม 3-7 วันก่อนมาร้อยไหม เพื่อลดโอกาสเลือดออกเยอะ เลือดออกไม่หยุดขณะร้อยไหม
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 วันก่อนทำ
  • ควรสระผมก่อนมาร้อยไหม
  • ควรรักษาปัญหาผิวบนใบหน้าให้หายดีก่อนหากมีผิวหนังอักเสบ หรือเป็นสิวรุนแรง
  • แจ้งโรคประจำตัว และประวัติการแพ้ยาให้แพทย์รู้ก่อนร้อยไหม


ข้อควรระวังหลังร้อยไหม

  • งดแอลกอฮอล์ ของหมักดอง ของดิบ 1-2 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดอาการบวม
  • งดเลเซอร์ ทรีทเม้นท์ อบซาวหน้า 4 สัปดาห์
  • งดการออกกำลังกายหนัก 2 สัปดาห์
  • เลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ 2 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ไม่นอนทับบริเวณที่ร้อยไหมมา 2 – 3 วันแรก
  • ไม่อ้าปากกว้างนานๆ แสดงสีหน้าเยอะๆ 4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไหมเคลื่อน ไหมขาด
  • ไม่ควรเอามือกด นวดหน้าแรงๆ เพราะทำให้ไหมเคลื่อน และติดเชื้อได้


ผลข้างเคียงที่อาจพบหลังร้อยไหม

  • มีอาการบวมหลังร้อยไหม
    จะมีอาการบวมประมาณ 3 – 7 วัน และรู้สึกปวดระบมเล็กน้อย จากนั้นอาการบวมจะค่อยๆยุบลง
  • มีรอยเขียวช้ำ
    อาจมีรอยเขียวช้ำที่เกิดจากเข็ม ซึ่งสามารถช้ำได้นาน 1 – 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนไป
  • ตึงหน้า อ้าปากลำบาก
    เนื่องจากไหมได้เข้าไปยกกระชับใบหน้าจะรู้สึกตึงประมาณ 1 – 3 วันแรก หลังจากนั้นจะค่อยๆ ขยับใบหน้าได้ง่ายมากขึ้น
  • เห็นริ้วไหม ผิวเป็นคลื่น รู้สึกเป็นไต
    เกิดจากการที่ผิวหลวมขาดคอลลาเจนมาก เส้นไหมมีขนาดใหญ่ และผิวบาง แต่ไหมจะค่อยๆกลืนไปกับผิว ผิวกลับมาเรียบ ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์หลังร้อยไหม


สรุปบทความ

การร้อยไหมสามารถยกกระชับผิวได้ โดยมีชนิดของไหมให้เลือกใช้หลากหลายปรับใช้ไปตามปัญหาผิว และความต้องการ โดยผลลัพธ์อยู่ได้นานตั้งแต่ 6 – 24 เดือน เพื่อความปลอดภัยควรเลือกร้อยไหมกับคลินิกที่เชี่ยวชาญ มีความปลอดภัยเพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการร้อยไหม