เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ภาคีเครือข่ายการศึกษาไทย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย Thai PBS สถานีโทรทัศน์เอแอลทีวี ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย Starfish Education Octava Foundation SEAMEO STEM-ED Saturday school I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน Teach For Thailand สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park Inkfinity visual note คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย Spark Education บริษัท ไลค์ มี จำกัด บริษัท ไอเมค อินโนเวชั่น จำกัด และสมาคมดาราศาสตร์ไทย ร่วมจัดงาน “FutureEd Fest 2024” หรือกิจกรรมด้านนวัตกรรมการศึกษาระดับประเทศ ภายใต้ธีมหลัก “4 Key Pillars” ในวันที่ 5 ต.ค. 2567 ณ ไปรษณีย์กลาง กรุงเทพมหานคร

โดย ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ยเสริบุตร CEO Starfish Education กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ได้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งทาง Starfish มองว่าเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่นักนวัตกร ครู นักเรียน และนักศึกษาที่สนใจนวัตกรรมและการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งปีนี้จะมีความพิเศษมากขึ้นให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วมากขึ้น ฝ่ายนโยบายมีความพยายามจากหลากหลายกลุ่มทั้งในไทย และต่างประเทศ จะทำนโยบายการศึกษาทั้งเรื่องของโครงสร้าง และหลักสูตรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

“ตอนนี้หมดยุคที่จะคิดว่าการศึกษาจะต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น เราจะทำแพลตฟอร์มอย่างไร ให้สามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เรียนรู้ เกิดการเรียนรู้จากหลายที่ และนำสิ่งที่เรียนมาเป็นตัว verified ในการเรียนและการทำงาน ขณะเดียวกันผู้บริหารโรงเรียน เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ทักษะของผู้บริหารทุกวันนี้ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นำมาใช้จัดการบริหารโรงเรียนอย่างไร ต้องรู้ด้วยว่าวิธีการเรียนรู้แบบไหนที่จะเอื้อหรือสร้างทักษะต่างๆ ให้กับเด็กได้ เพราะเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ไม่ใช่หน้าที่ของครูคอมพิวเตอร์อย่างเดียว แต่ครูทุกคนต้องเข้าใจ และประยุกต์นำ AI มาใช้อำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน ทำให้เด็กรุ่นใหม่ ครูรุ่นใหม่ ทุกคนต้องเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดเวลา” ดร.นรรธพร กล่าว

ทั้งนี้ การจัดงาน FutureEd Fest 2024 ในปีนี้ต้องการที่ต่อยอดการนำนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้แล้วเห็นผลจริงและนำเรื่องราวความสำเร็จนั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ การรวมพลังการมีส่วนร่วมของเครือข่ายได้ขยายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราต่างเห็นเหมือนกันว่าการเตรียมความพร้อมผู้เรียนในด้านทักษะต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์และทักษะดิจิทัล ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการส่งเสริมความหลากหลายและการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกิจกรรม Panel Discussion EduInnovate-Crafting the Future of Learning สร้างอนาคตของการเรียนรู้ ว่า โลกมีความท้าทายมากขึ้น การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ มีความสำคัญมากสำหรับเด็กๆ ที่ควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ภายในโรงเรียน ให้เด็กได้ล้มเหลว ทดลอง ให้เขามองว่า เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ กทม.ได้มีการเปลี่ยนหลักสูตรในรอบ 16 ปี โดย 30 กว่าโรงเรียน มีทาง Starfish เข้ามาช่วยในพื้นที่ อาทิ พื้นที่บางพลัด ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของเด็กๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าประทับใจ และจะนำไปขยายผลไปสู่โรงเรียน อย่าง เรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในอนาคต เพราะการรู้เฉพาะภาษาไทยอาจไม่ตอบโจทย์ในยุคปัจจุบัน

ด้าน ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน SEAMEO STEM-ED Director กล่าวว่า วัฒนธรรมทำเอง Maker Education และงานวิจัยทางด้านการศึกษา พบว่า การศึกษาในรูปแบบการลงมือทำจะทำให้สามารถจดจำการเรียนรู้ต่างๆ ความเข้าใจจะเกิดขึ้นถึง 75% และเมื่อใดก็ตามที่สอนคนอื่น จะทำให้เกิดการเรียนรู้ 90% เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังสอนแบบเดิมๆ การลงทุนด้านการศึกษาไม่ได้ทำให้เกิดประสิทธิผล แต่เมื่อใดที่สร้างบรรยากาศให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ โดยใช้ Project Based Learning ดูว่าเด็กๆ สนใจอะไร ให้เขาตั้งโจทย์ และค้นหาวิธีในการแก้ปัญหาด้วยการลงมือทำ เพราะอะไรก็ตามที่สนใจ และได้เรียนรู้ จะทำให้เกิดการ ตอบสนองการเรียนรู้ และเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้แก่เด็ก

นายมานิตย์ จันสุทธิรางกูร กรรมการผู้จัดการไอเมคอินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า ทักษะแห่งอนาคตต้องเริ่มจากความเข้าใจบริบทปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ทุกคนควร Reskill และพัฒนา Soft Skills ของตนเอง อย่าง ทักษะการบริหารจัดการตนเอง จะทำอย่างไรให้คุณเป็น Lifelong learning และเป็นคนที่พร้อมอดทน ปรับตัวได้ และรับมือกับแรงกดดันที่มีจำนวนมากในการทำงาน ขณะเดียวกัน ต้องมีทักษะการจัดการบริหาร AI คนในยุคนี้ต้องสามารถรู้จักใช้งาน AI ต้องบริหารข้อมูล จะออกคำสั่งอย่างไร รวมทั้งมีทักษะ Creativity ที่จะทำให้ทุกคนเก่งกว่าหุ่นยนต์ และสามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน เด็กยุคใหม่ต้องพัฒนาทักษะตนเอง เพราะในอนาคตจะมีตำแหน่งงานเหล่านี้เป็นที่ต้องการ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การตลาดทางด้านดิจิทัล หรือ Robotics วิทยาการหุ่นยนต์ เป็นต้น

ภายในงาน ยังมีการจัดกิจกรรม “สร้างแรงบันดาลใจไปกับ FutureED Fest” โดยโรงเรียน และ เด็กๆ ทีมครบเครื่องเรื่องวง ชนะเลิศอันดับที่ 1 รุ่นนักศึกษาการแข่งขัน Pitching ปี 2023 ทีม LKM (โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรน์) รองชนะเลิศอันดับ 1 รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี การแข่งขัน Pitching ปี 2023 พร้อมทั้ง นำเสนอกิจกรรม Maker Fest ซึ่งสาระสำคัญของวงเสวนาดังกล่าว เป็นการต่อยอดนวัตกรรมในโครงการต่างๆ จนเกิดผลและสามารถนำไปใช้ในได้กับบริบทของโรงเรียน รวมไปถึงการเล่าภาพความประทับที่ได้รับจากการแข่งขันในปีที่ผ่าน และภาพความฝันที่อยากจะนำมาแบ่งปันในปีนี้ เช่น การแข่งขัน Pitching และการนำเสนอ Maker Fest เป็นต้น

สำหรับ งาน FutureEd Fest 2024 พบกับกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ดังนี้ Keynote Speech รับฟังประสบการณ์ เรื่องราวจากผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อการศึกษาแห่งอนาคต Panel Discussion รับฟังเสวนา ในหัวข้อเทคโนโลยีการศึกษา นวัตกรรม Maker Education จากนักการศึกษาจากไทยและต่างประเทศ Workshop เสริมความรู้ ติดทักษะ เครื่องมือ How to มากมาย Meet Up Cafe ส่งเสริมเครือข่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดนวัตกรรมการศึกษา Pitching รับฟังการนำเสนอผลงานนวัตกรรม Award กิจกรรมมอบรางวัลนวัตกรรมที่โดดเด่น Booth Maker Fest นวัตกรรมการศึกษาที่หลากหลาย Booth Exhibition นิทรรศการ นวัตกรรมการเรียนรู้จากองค์กรภาคีเครือข่าย

สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ที่ช่องทาง www.futureedfest.com หรือติดตามข้อมูลเพิมเติมได้ที่เพจ Facebook futureed fest