เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกฯ และ รมว.คมนาคม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน, นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกฯ และ รมว.คลัง, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นางสาวจิราพร สินธุไพร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็น รมช.กลาโหม, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็น รมช.คลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็น รมช.คลัง, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็น รมว.การต่างประเทศ, นายสรวงศ์ เทียนทอง เป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), นางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายอิทธิ ศิริลัทธยากร เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายอัครา พรหมเผ่า เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์, นางมนพร เจริญศรี เป็น รมช.คมนาคม, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็น รมช.คมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.), นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็น รมว.พาณิชย์, นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็น รมช.พาณิชย์, นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็น รมช.พาณิชย์, นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็น รมช.มหาดไทย, นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ เป็น รมช.มหาดไทย, นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็น รมช.มหาดไทย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็น รมว.ยุติธรรม, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็น รมว.แรงงาน, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็น รมว.วัฒนธรรม, พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็น รมว.ศึกษาธิการ, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็น รมช.ศึกษาธิการ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.สาธารณสุข, นายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็น รมช.สาธารณสุข, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 3 ก.ย. 2567 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ประสานแจ้งให้นายกฯ และ ครม.ชุดใหม่ เตรียมความพร้อมเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 6 ก.ย. 67 เวลา 17.00 น. ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ภายหลังถวายสัตย์ฯ ได้นัดประชุม ครม.นัดพิเศษทันที ในวันเสาร์ที่ 7 ก.ย.นี้ เพื่อเห็นชอบนโยบายก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยก่อนการประชุม ครม.จะมีการถ่ายภาพหมู่ ครม.ทั้งคณะ ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลด้วย

เอกสารนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงนั้น จะต้องดำเนินการจัดส่งไปยังสภาล่วงหน้า 3 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาวันที่เหมาะสม ซึ่ง สว.ไม่ติดวาระการประชุมใดๆ คาดว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลจากไทม์ไลน์เดิม วันที่ 16 ก.ย. จะมีการขยับวันให้เร็วขึ้น โดยจะแถลงนโยบาย 2 วัน 12-13 ก.ย.นี้

แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลก็ส่งนโยบายมา ที่น่าสนใจ อาทิ พรรคภูมิใจไทย เสนอควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงและการพนันผิดกฎหมาย โดยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิง และการพนันให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด, กระจายอำนาจการเงินการคลังสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจนำส่งภาษีรายได้ให้แก่ท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สนับสนุนให้ประชาชนมีระบบโซลาร์เซลล์ ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน และมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการใช้ในครัวเรือนคืนให้รัฐ ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย รวมถึงกัญชาเพื่อการแพทย์ สุขภาพ สร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ และควบคุมผลกระทบทางสังคม โดยการตราเป็น พ.ร.บ.

นโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คือ 1.การแก้ไขกฎหมาย ยืนยันว่า ต้องไม่มีการแก้ไข ป.อาญา ม.112 รวมถึงห้ามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หมวด 2 และในประเด็นเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐธรรมนูญ 2.นโยบายของพรรคในเรื่องพลังงาน ที่จะต้องมีการสร้างโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมกับประชาชน และการดำเนินการตามแนวทางรื้อ-ลด-ปลด-สร้าง นโยบายนี้จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อย่างมาก ซึ่งจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อร่างกฎหมายโครงสร้างพลังงานผ่านเป็นกฎหมายแล้ว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ กล่าวถึงการประชุม ครม.นัดพิเศษว่า คือการเตรียมนโยบายที่จะแถลงแต่สภา ซึ่งแต่ละพรรคจะเอานโยบายมาพูดกัน ถ้าเห็นต่างก็หาจุดร่วมที่เหมาะสมเป็นนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะเป็นภาพใหญ่ และเกือบไม่ต้องทำอะไรใหม่เพราะเป็นพรรคร่วมเดิม

นายภูมิธรรมยังกล่าวด้วยว่า สำหรับ นายกฯ อิ๊งค์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นคนเก่ง ไม่ต้องติวหรือซ้อมเรื่องพูดอะไร ถ้าเป็นงานของใครคนนั้นก็รู้ ทุกคนมีธรรมชาติของตัวเอง และต่างก็เห็นว่านายกฯ พูดปราศรัยอะไรต่างๆ ชัดเจนฉะฉาน และไม่อยากตอบคำถามที่ถูกวิจารณ์ว่า เป็น ครม.ครอบครัว โดยกล่าวว่า “พูดตรงนี้ไม่ได้ ให้รอผลการดำเนินการเสร็จสิ้นก่อน แต่ไม่อยากให้เอาคำว่าครอบครัวมาเกี่ยวข้อง เพราะวันนี้วัดคนที่ความสามารถจะเข้ามาทำงาน ใครมีความสามารถ จะคนในครอบครัว หรือคนคิดเห็นไม่เหมือนกัน หากมีศักยภาพก็เอาเข้ามาทำงาน”

“รมช.หนิม” นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ คงจะพิจารณาปรับให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ให้เกิดประโยชน์โดยเร็วในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อประชาชนได้จับจ่ายโดยเร็ว และมีเม็ดเงินลงทุนโดยเร็ว จึงเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยในบางส่วนอาจจะจ่ายเป็นเงินสด แต่กลุ่มที่ลงทะเบียนไว้แล้วเราก็เดินหน้าต่อ ยังมีโครงการที่เป็นลักษณะดิจิทัลวอลเล็ต ให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและเรื่องการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับประเด็นเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี จากที่มีข่าวปล่อยเรื่อง “นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง” รมช.สาธารณสุข สส.สงขลา และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องกับเรื่องสีเทาๆ นั้น เจ้าตัวได้แถลงข่าวว่าถูกสื่อมวลชนสำนักหนึ่งโจมตี โดยยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวกับ “โทนี่ เตียว” อาชญากรข้ามชาติที่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ผู้ต้องหาคดีฟอกเงินและทำธุรกิจผิดกฎหมายในจีนและมาเลเซีย เกี่ยวข้องกับธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์เต็มรูปแบบ ที่ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา ที่เห็นถ่ายรูปด้วยกันคือไปงานบวชของโทนี่

นายกชายยืนยันว่า ขณะนั้นโทนี่ เตียว เป็นนักธุรกิจที่จะมาลงทุนที่สงขลาเป็นพันล้าน ในฐานะคนสงขลา ถ้าเขาเข้ามาอย่างถูกกฎหมายเพื่อลงทุน ก็ไปต้อนรับ แต่ต่อมา โทนี่ เตียว ได้ทำผิดกฎหมายที่ประเทศจีน ปัจจุบันก็ได้ส่งตัวกลับประเทศแล้ว หากผิดกฎหมายในไทยจริง ก็คงจะส่งกลับประเทศจีนไม่ได้ เพราะต้องรับโทษในประเทศไทยให้จบก่อน “ยืนยันว่าชีวิตนี้ไม่เคยต้องโทษอาญาใด เพราะถ้ามีความผิดก็ต้องโดนหมายเรียกไปรายงานตัว ทั้งชีวิตเคยเจอคดีเดียว คือคดีเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ที่นายนวพล บุญญามณี เป็นผู้ฟ้อง และศาลยกฟ้อง

“เชื่อว่ามีขบวนการอยู่ข้างหลัง เพราะจ้องมาที่ผมและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพิเศษ จากนี้ กรณีใดเข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็ต้องรักษาสิทธิฟ้องดำเนินคดีบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง” นายเดชอิศม์ กล่าว

อีกคนหนึ่งที่โดนโจมตีมากคือ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งเคยเป็น กปปส.ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาก่อน เมื่อถูกถามถึงเหตุที่รับตำแหน่งรัฐมนตรี “ขิง เอกนัฏ” บอกแค่ว่า ขอให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ และยินดีรับฟังทุกความเห็น ย้ำว่า อุดมการณ์ปกป้องสถาบันของตัวเองยังคงเดิม แต่วันนี้ ขอเลือกวิธีที่เชื่อว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เป็นทางออกของประเทศ เป็นทางออกทางของประเทศที่ดีที่สุด และอาจจะเป็นทางออกทางเดียว

“ภัยคุกคามกับความท้าทายของประเทศเปลี่ยนแปลงไป วันนี้เป็นช่วงจังหวะสำคัญที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาให้กับประเทศ คือการเดินหน้าและรักษาไว้ซึ่งสถาบันเสาหลักของประเทศ ถ้าทุกคนคิดถึงบ้านเมืองเป็นหลักก็สามารถทำงานด้วยกันได้ เราไม่ได้ลืมและไม่ได้ลบ แต่เราเลือก วันนี้ความท้าทายภัยของประเทศมันเปลี่ยนไป เราจึงเลือกวิธีที่คิดว่าดีที่สุดในจุดยืนและอุดมการณ์” นายเอกนัฏ กล่าว แต่ไม่ได้ตอบชัดว่า ได้คุยกับพ่อเลี้ยง คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.แล้วหรือไม่

นอกจากการปรับ ครม. สิ่งที่น่าสนใจคือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทหาร ว่า หน่วยไหน รุ่นไหน คุมกำลังสำคัญ โดยวันที่ 3 ก.ย. นายสุทิน คลังแสง อดีต รมว.กลาโหม ได้หารือจนบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายแล้วเสร็จ แต่ให้เป็นอำนาจของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นผู้ลงนาม

ในที่ประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพล นายสุทินได้เชิญ ผบ.เหล่าทัพ หารือเป็นรายบุคคล ก่อนเห็นชอบตามที่เหล่าทัพเสนอ พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ (ตท.24 ) ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ถูกส่งไปเป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม เตรียมจ่อขึ้น ปลัดกระทรวงกลาโหม ปี 2568 ส่วน พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ (ตท.24) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด จ่อเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ปี 2568 เช่นเดียวกัน ขณะที่กองทัพบก พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ (ตท.26) เป็น ผบ.ทบ. พล.อ.ณัฐวุฒิ นาคะนคร (ตท.24) รอง ผบ.ทบ. พล.อ.วสุ เจียมสุ (ตท.25) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ (ตท.26) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.ธงชัย รอดย้อย (ตท.25) เสธ.ทบ.

ในการประชุมครั้งนี้ มีความพยายามต่อรองเปลี่ยนชื่อ แม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 2 แม่ทัพภาคที่ 4 รวมถึงอีกหลายตำแหน่งในกองทัพภาคที่ 2 แต่ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ยืนยันตามรายชื่อเดิม พล.ท.อมฤต บุญสุยา (ตท.27) แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็น แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.บุญสิน พาดกลาง (ตท.26) แม่ทัพน้อยภาคที่ 2 เป็น มทภ.2 พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ (ตท.23) แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็น แม่ทัพภาคที่ 3 และ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น มทภ.4

ขณะที่ กองทัพเรือ เป็นเหล่าทัพที่ใช้เวลามากที่สุดกว่า 1 ชั่วโมง ปรากฏชื่อ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ (ตท.23) ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. เป็น ผบ.ทร. ซึ่งอยู่นอก 5 ฉลามทัพเรือ และไม่ได้จบโรงเรียนนายเรือ แต่จบนายเรือเยอรมัน ก่อนหน้านี้ มีแคนดิเดตในตำแหน่งหลักหลายคนอยู่ในไลน์ เช่น พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ (ตท.23) ผู้ช่วย ผบ.ทร. พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสธ.ทร. และ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข (ตท.25) รอง ผบ.ทร. ถูกส่งไปเป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด แต่ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ยืนยันเสนอชื่อ พล.ร.อ.จิรพล เป็น ผบ.ทร. และรอให้มีการโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่

“ทีมข่าวการเมือง”