เมื่อเวลา 18.18 น. วันที่ 4 ก.ย.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รมช.คลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ลุกขึ้นชี้แจงภาพรวมมาตรา 21 กระทรวงยุติธรรม ว่า งบประมาณก้อนนี้รวม 12 หน่วยงาน ซึ่งเป็นงบประมาณเฉพาะแผนงานพื้นฐานและยุทธศาสตร์ ประมาณ 15,500 ล้านบาท ที่มีภารกิจเป็นหน่วยหลักในการอำนวยความยุติธรรม และมีข้อเสนอในการปรับลดอย่างหลากหลาย ซึ่งเข้าใจว่าคงอยากจะให้การทำงานของกระทรวงยุติธรรมกระชับ และเกิดประโยชน์สูงขึ้น 

นายจุลพันธ์  กล่าวชี้แจงว่า หากมีการปรับลดจริง จะเกิดผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงาน และภารกิจงานที่ทุกคนตั้งความหวังไว้ ในด้านการพัฒนากฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือต่างๆ การแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำ รวมถึงโครงการปรับปรุงเรือนจำ 

นายจุลพันธ์  กล่าวอีกว่า จากวาระที่ 1 มีการดำเนินการในขั้นต้น เพื่อทำให้งบประมาณมีความประหยัด และคุ้มค่าที่สุด กรรมาธิการชุดใหญ่ และชั้นอนุกรรมาธิการ ได้มีการพิจารณา และปรับลดงบประมาณ ที่ไม่กระทบต่อการดำเนินการของหน่วยงานไปแล้ว จำนวน 120 ล้านบาท และหวังว่าจะทำให้การทำงานของหน่วยงาน มีความกระชับ รัดกุม และเกิดประสิทธิผลตามที่ได้ตั้งหวังไว้ โดยไม่เสียงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงการเสนอปรับลด 10% หรือ 6,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมาจากการนำสองมาตรามาบวกกัน คือส่วนกองทุนยุติธรรม ที่อยู่ในมาตรา 39 มาบวกกับกระทรวงยุติธรรมที่อยู่ในมาตรา 21 ซึ่งเป็นคนละมาตราไม่สามารถนำพิจารณารวมกันได้ 

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการอภิปรายเรื่องกองทุนยุติธรรม ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่ามีความเปิดกว้าง และให้โอกาสในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างครอบคลุมแล้วหรือไม่ และมีการตั้งงบประมาณอย่างไรนั้น แม้จะอภิปรายผิดจุด แต่ตนขอชี้แจงเพื่อให้ไม่ถูกหยิบยกมาในมาตราที่ 39 อีก ว่างบประมาณ 160 ล้านบาท ส่วนนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ 1.การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี 2.การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย 3.การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 4.การให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย 

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า โดยหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 64 มีการแก้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการ เงื่อนไข ในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปี 67 นี้ มีการออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราในการให้ความช่วยเหลือการดำเนินคดี จากกองทุนยุติธรรม ฉบับที่ 2 และมีการออกคำสั่งเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด เพื่อให้มีความสอดคล้องกับภารกิจของกองทุนได้มากขึ้น และมีองค์ประกอบของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งจากการแก้ไขทั้งหมดนี้ ส่งผลให้การช่วยเหลือประชาชนของกองทุนยุติธรรม มีอัตราการอนุมัติที่สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงเรื่องปัญหายาเสพติด และสิ่งเสพติดให้โทษต่างๆ ว่า กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเข้าถึงเด็กและเยาวชน สถานพินิจในวันนี้ เมื่อเฉลี่ยงบประมาณแล้ว ยากจะทำให้เกิดประโยชน์ และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ จึงเป็นเช่นนี้ 

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูกับเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นอันดับต้น แต่อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้ต้องมีการดำเนินการให้กับเด็กในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นลำดับแรก มีการแบ่งประเภทตามความจำเป็นเฉพาะรายต่อไป ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน และได้ดำเนินการอยู่เป็นปกติ ส่วนการจ้างผู้เชี่ยวชาญในการดูแลศูนย์ฝึกอบรม ขอยืนยันว่าค่าตอบแทนในส่วนนี้เป็นกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะบุคลากรเจ้าหน้าที่ ซึ่งในปี 68 ก็มีการตั้งงบประมาณแยกในส่วนนี้อีกต่างหาก รวมแล้วกว่า 1,700 อัตรา ย้ำว่า ไม่มีการขาดแคลนเรื่องบุคลากรที่จะเข้าไปดำเนินการ

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า สุดท้าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านกาญจนานั้น นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า ไม่มีการสอบถามในรายละเอียดเหตุการณ์นี้ในชั้นของกรรมาธิการ เนื่องจากการพิจารณาผ่านพ้นไปก่อนที่จะมีข่าวปรากฏขึ้นตามสื่อ แต่ก็มีการสอบถามเพิ่มเติม และได้รับคำตอบว่า เหตุการณ์ของ ทิชา ณ นคร ซึ่งเป็นผู้ดูแลบ้านกาญจนา อยู่ในฐานะการเป็นพนักงานราชการ ซึ่งมีการตั้งงบประมาณไว้ 533 ล้านบาท โดยทางกรรมาธิการไม่มีการปรับลดงบประมาณส่วนนี้แต่อย่างใด เรื่องนี้เป็นเรื่องกรอบความเป็นพนักงานราชการ ซึ่งต้องมีการทบทวนโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ทุก 4 ปี 

นายจุลพันธ์ กล่าวย้ำว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะท่านทำงานมาอย่างยาวนาน ได้รับการทบทวนมาแล้ว 6 ครั้ง วันนี้จึงถึงรอบของมัน ซึ่งกลไกในปัจจุบันนี้ ก็อยู่ในขั้นตอนของการทบทวน และเชื่อมั่นว่าภายหลังจากการทบทวนแล้ว จะผ่านการประเมิน และหากผ่านการประเมินแล้ว กระทรวงยุติธรรมก็มีหน้าที่บรรจุกลับเข้าไปอยู่ในฐานะเดิมต่อไป และเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการยุบบ้านกาญจนา 

จากนั้น เวลา 18.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน ได้ขอมติจากที่ประชุมเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 427 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นชอบ งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 8 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 436 เสียง

ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 295 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 441 เสียง.