ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่หอประชุมปักษาสวรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 จัดมหกรรมวิชาการ กายภาพดี คุณภาพดี มีความสุข (1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ) โดย ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนเป็นองค์การทางการศึกษาที่สำคัญระดับฐานล่างต่อการดำเนินบทบาท ภารกิจการสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดผลผลิตทางการศึกษา ทั้งนี้ผู้บริหารโรงเรียนจะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะนำความสำเร็จและเสริมสร้างคุณภาพทางการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรนั้นๆ การสร้างคุณภาพ ในโรงเรียนจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นความมั่นใจเกิดขึ้นกับผู้รับบริการทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคมส่วนรวม ดังนั้น โรงเรียนที่มีคุณภาพเชิงบริหารจัดการย่อมก่อให้เกิดมิติแห่งความเป็นเลิศในสถานศึกษาระบบการจัดการศึกษายุคใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีปัจจัยและองค์ประกอบเสริมที่หลากหลายเข้ามาช่วยดำเนินการ เพื่อส่งผลต่อความสำเร็จขององค์การได้ในที่สุด “ผู้บริหารโรงเรียน” จึงมีความสำคัญยิ่ง ที่ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งหมายถึงโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ต่อไปในอนาคต

ดร.บรรเจิด กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน มหกรรมวิชาการครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นในโครงการและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งภายในงานนี้ มีกิจกรรมมากมายที่จัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะทางด้านการบริหารการจัดการศึกษา ประกอบด้วยกิจกรรม 1. กิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารสู่ความเป็นเลิศ 2. กิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมในโครงการโรงเรียนสุจริต 3. กิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ และกิจกรรมการเชิดชูผลงานเด่นของสถานศึกษา รวมถึงการจัดแสดงผลงานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดและศักยภาพของผู้เข้าร่วมงาน การจัดงานมหกรรมวิชาการ กายภาพดี คุณภาพดี มีความสุข (1 โรงเรียน 3 รูปแบบ) ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากประธานเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ 1 ถึง 9 และสถานศึกษาในสังกัด และผู้มีเกียรติทุกท่าน เครือข่ายชุมชน

ดร.นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมกับการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรีเขต 1 ได้ขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยได้แนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เป็นกรอบในการดำเนินงาน จนได้เห็นถึงคุณภาพ ความสำเร็จ เห็นผู้ที่สามารถเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติในแต่ละด้านได้ จนเกิดงานมหกรรมวิชาการ กายภาพดี คุณภาพดี มีความสุข (1 โรงเรียน 3 รูปแบบ) เพื่อขยายแนวคิดการปฏิบัติจนเกิดความสำเร็จ ส่งต่อให้กับผู้อื่นได้นำไปปรับใช้ให้เห็นผลสำเร็จไปพร้อมกันทั้งเขตพื้นที่และหน่วยงานอื่นๆ หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คือการดำเนินการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งต้องทำให้เห็นถึงคุณภาพและประสิทธิภาพ ในทุกมิติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้อง การจัดงานมหกรรมวิชาการ กายภาพดี คุณภาพดี มีความสุข (1 โรงเรียน 3 รูปแบบ) นับเป็นกิจกรรมที่ดียิ่ง เพราะได้เห็นถึงการที่สำนักงานเขตพื้นที่ได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ ในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาการศึกษา โดยได้นำผู้ที่ปฏิบัติได้ดีจนเกิดคุณภาพมาเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เห็นผลเช่นกัน พร้อมทั้งเชิดชูผู้ที่เป็นแบบอย่างเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

นายวงษ์สัน คูหามณีโชติ ผอ.โรงเรียนมหาราช 7 กล่าวว่า โรงเรียนมหาราช 7 เป็น 1 ในโรงเรียนนำร่อง การจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 15 คือ 1.การจัดการศึกษาในระบบ 2.การจัดการศึกษานอกระบบ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้เรียน และ 3.การศึกษาตามอัธยาศัย คือ เรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจ สามารถทำให้ทางโรงเรียนสามารถจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ในชีวิตจริงของผู้เรียน ทำให้เป็นหลักสูตรทางเลือก ที่ช่วยให้เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา สามารถมีโอกาสกลับมาเรียนและได้วุฒิการศึกษาได้

นายวงษ์สัน กล่าวว่า เปรียบได้กับโรงเรียนสร้างโอกาส ที่ผ่านมา โรงเรียนมหาราช 7 ได้นำร่อง โดยการติดตามเด็กนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว กลับเข้ามาเรียนในรูปแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 4 ราย โดยนำนวัตกรรมการเรียนในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเด็กนักเรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ และเรียนได้ทุกเวลา โดยสร้างชุดการเรียนออนไลน์ขึ้นมา โดยยึดหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก การจัดการศึกษาในรูปแบบนี้สามารถตอบโจทย์ให้กับเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก โดยมีเด็กจำนวน 3 ราย สามารถเรียนจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และเด็กกลุ่มนี้ได้เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นต่อไป ทำให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ สามารถช่วยเหลือและดึงเด็กที่หลุดจากระบบหรือเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ให้สามารถกลับมาได้รับการศึกษาและได้รับวุฒิการศึกษา อย่างน้อยคือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้