นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก เปิดเผยว่า  รายงานล่าสุดของแคสเปอร์สกี้ พบว่าเหตุการณ์อันตรายทางไซเบอร์ที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ที่โฮสต์อยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในไตรมาสที่ 2 (เมษายน–มิถุนายน) ของปึ 67 (เมษายน-มิถุนายน) ตรวจพบเหตุการณ์โจมตี 196,078 ครั้ง เพิ่มขึ้นมากถึง 203.48% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ที่พบเหตุการณ์ 64,609 ครั้ง และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรายไตรมาส ในไตรมาสที่ 2  ปี 67 ตรวจพบเหตุการณ์ทางไซเบอร์ 196,078 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 1  ที่พบเหตุการณ์ 157,935 ครั้ง หรือเพิ่มมากถึง 24.15%

“ผู้ก่อภัยคุกคามใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ถูกโจมตีเพื่อโฮสต์เว็บไซต์ที่ใช้ส่งมัลแวร์ไปยังผู้ใช้ที่ไม่ทันระมัดระวัง และถูกล่อลวงไปยังเว็บไซต์อันตรายผ่านโฆษณาปลอม ลิงก์ฟิชชิงในอีเมล  เอสเอ็มเอส และวิธีอื่นๆ หลังจากนั้นผู้ก่อภัยคุกคามจะสำรวจคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของเหยื่อเพื่อหาช่องโหว่และการรั่วไหล ขณะที่ในปี 66 ภัยคุกคามไซเบอร์ของไทยเพิ่มขึ้น 114.25% จากปีก่อน กลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีมากที่สุดคือหน่วยงานด้านการศึกษา 632 ครั้ง รองลงมาคือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ 461 ครั้ง  ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และบริษัทเอกชน 148 ครั้ง และการเงินการธนาคาร 148 ครั้ง และภัยคุกคามที่พบบ่อยที่สุด คือ การโจมตีที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ รองลงมาคือการแฮกเพื่อเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ และการสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อดักขโมยข้อมูล”

นายเซียง เทียง โยว กล่าวต่อว่า จำนวนเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกบุกรุกเพิ่มมากขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย  ทั้งความนิยมในการทำงานจากระยะไกลที่เพิ่มมากขึ้น  การทำงานจากบ้านและการใช้ดีไวซ์ส่วนตัวเพื่อทำงาน ทำให้จำนวนอุปกรณ์และเครือข่ายที่ไม่มีการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ที่ใช้เข้าถึงข้อมูลขององค์กร  และมาตรการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ขาดประสิทธิภาพ การขาดการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ของคนองค์กรธุรกิจและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงการเพิ่มขึ้นของแรนซัมแวร์ กลโกงฟิชชิงที่หลอกล่อเหยื่อเอาข้อมูล ซึ่งแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลร้ายแรงต่อธุรกิจและผู้ใช้ทั่วไป การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยแนวทางที่ครอบคลุม การสนับสนุนจากภาครัฐบาล ความร่วมมือในแวดวงความปลอดภัยไซเบอร์ และความรับผิดชอบส่วนบุคคล.