“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์“ รายงานว่า ศาลปกครองนครราชสีมา มีคำสั่งรับคำฟ้องจากประชาชนที่ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 ที่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายจากการก่อสร้างหลังคาชานชาลาสถานีรถไฟทางคู่ (สถานีปากช่อง) ไม่ได้มาตรฐานไม่กันแดดกันฝน

โดยในคำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องมีความจำเป็นต้องเดินทางโดยรถไฟจากสถานีปากช่องไปสถานีรถไฟนครราชสีมา สถานีสระบุรี และสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ในบางครั้งเพื่อทำธุระส่วนตัวและเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน ต่อมาช่วงปลายปี 2563 รฟท.รื้อถอนชานชาลาสถานีเดิมเพื่อก่อสร้างชานชาลาและอาคารหลังใหม่ในโครงการทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ทำให้ประสบปัญหาหลังคาชานชาลามีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอ สร้างเป็นหย่อมเว้นช่วงห่างกันมาก

ส่งผลให้เกิดความลำบากในการโดยสารขบวนรถไฟในขณะฝนตกหรือช่วงบ่ายที่อากาศร้อนและแดดแรง ความกว้างปีกหลังคาถึงแค่ระดับเส้นเหลือง ต่างจากสถานีปากช่องรูปแบบเก่า ซึ่งมีหลังคาชานชาลาครอบคลุมตลอดแนว อีกทั้งยังมีปีกกว้างไปถึงหลังคาตู้โดยสาร นอกจากนี้ที่ปลายชานชาลาทั้ง 2 ฝั่ง ไม่มีทางลาดขึ้น-ลง สำหรับการขนส่งรถจักรยานยนต์ จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้งบันไดขึ้น-ลงสะพานลอย เป็นหินขัด ที่มีความลื่น หากเป็นช่วงหน้าฝนเสี่ยงแก่การลื่นหกล้มเกิดอุบัติเหตุ

ที่ผ่านมาได้ร้องเรียน รฟท.ทุกช่องทางแต่ไม่แก้ไข การที่ รฟท.ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายจึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้รฟท.แก้ไขชานชาลาทุกสถานีโดยเฉพาะสถานีระดับอำเภอหรือจังหวัดโดยทำให้ยาวสุดชานชาลา หลังคาควรปีกกว้างกว่านี้และสถานีปากช่องควรมีทางลาดที่ปลายชานชาลาเพื่อการขนส่งรถจักรยานยนต์ได้สะดวก พื้นสะพานลอยควรปูพื้นแบบอื่นที่ไม่มีความลื่นเพื่อความปลอดภัย

ศาลอยู่ระหว่างพิจารณาคดีและเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการ รฟท.ในฐานะรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการฯ ได้มอบอำนาจให้ตัวแทนส่งคำให้การโดยคัดค้านต่อสู้ว่าคำฟ้องไม่เป็นความจริงและไม่เคยละเลยหน้าที่ตามกฎหมาย และขอความกรุณาศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีเสีย ขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำคัดค้านคำให้การของ รฟท.แล้วโดยขอให้ทางศาลปกครองฯ ดำเนินการพิจารณาคดีนี้ต่อไป