สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงมานากัว ประเทศนิการากัว เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ว่า การปฏิรูปด้วยกฎหมายดังกล่าว กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี สำหรับผู้กระทำความผิด ฐาน “บ่อนทำลายบูรณภาพแห่งชาติ”

กฎหมายฉบับใหม่นี้ มีผลบังคับใช้กับชาวนิการากัวและชาวต่างชาติ รวมถึงบริษัทและองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) ตลอดจนกำหนดบทบัญญัติสำหรับการยึดทรัพย์สิน ซึ่งแม้ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่า การตัดสินโทษข้างต้นจะดำเนินการบนดินแดนต่างประเทศได้อย่างไร แต่รัฐบาลมานากัวระบุว่า มีเป้าหมายเพื่อปราบปราม “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ”

ทั้งนี้ การผ่านกฎหมายข้างต้นเกิดขึ้น หลังสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รายงานว่า กรณีการกักขังตามอำเภอใจ, การข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล, การปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมระหว่างการคุมขัง และการโจมตีชนพื้นเมือง มีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในนิการากัว ก็เลวร้ายอย่างมาก นับตั้งแต่ปีที่แล้ว

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์” (เอชอาร์ดับเบิลยู) แสดงความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวอาจถูกใช้เพื่อกดดัน และข่มขู่พลเมืองกับชาวต่างชาติที่ลี้ภัยมากขึ้น จากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิอื่น ๆ อย่างชอบธรรม

ขณะที่ นายโฟลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้รัฐบาลนิการากัว ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังตามอำเภอใจทุกคน, ยุติการทรมานและการกดขี่ข่มเหง ตลอดจนคืนสถานะทางกฎหมายให้กับองค์กรภาคประชาสังคม และพรรคฝ่ายค้านในประเทศ.

เครดิตภาพ : AFP