สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ว่า การประท้วงในรัฐเบงกอลตะวันตก เกิดขึ้นหลังการพบศพของแพทย์หญิงวัย 31 ปี คนหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตจากการทำร้ายร่างกาย ที่โรงพยาบาลของรัฐ ในเมืองโกลกาตา หรือเมืองเอกของรัฐเบงกอลตะวันตก เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา

กฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งได้รับการลงมติผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเบงกอลตะวันตก แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากประธานาธิบดีอินเดีย แสดงให้เห็นถึงความโกรธเคืองต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ซึ่งยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศ

แม้กฎหมายข้างต้นมีรายละเอียดเชิงสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย มีผลบังคับใช้เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การรับรองจากประธานาธิบดี อาจทำให้เกิดข้อยกเว้น และส่งผลให้กฎหมายใหม่นี้ กลายเป็นกฎหมายของรัฐได้

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้เพิ่มบทลงโทษสำหรับการข่มขืน จากโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปีในปัจจุบัน เป็นจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

อนึ่ง เหตุการณ์ฆาตกรรมแพทย์หญิงเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้บุคลากรแพทย์จำนวนมากหยุดงานประท้วง และเกิดการชุมนุมที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหลายพันคนทั่วประเทศ แม้แพทย์หลายคนกลับมาทำงานตามปกติแล้วก็ตาม.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES