เป็นการเข้าสอนให้เขาจับปลา ไม่ได้เอาปลาไปให้เขากิน มันไม่ใช่การไปถึงแล้วเอาเงินไปบริจาค แต่เราไปขลุกไปใช้เวลาเข้าไปอยู่กับชุมชนที่เราดูแลอย่างใกล้ชิด สอนวิธีทำธุรกิจ ดูตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ของชุมชนตรงตามความต้องการของลูกค้ามั้ย การออกแบบเป็นอย่างไรโดนใจมั้ย แพ็กเกจจิง โลจิสติกส์ การหาวัตถุดิบ การหาคนมาซื้อ การทำการสื่อสารต่าง ๆ แล้วแต่ว่าเขาต้องการอะไรตรงนั้น เราดูให้อย่างละเอียทั้งหมด เพื่อให้เขาไปต่อได้จริง ๆ เป็นการทำด้วยกัน ทำด้วยความจริงใจไปด้วยกัน”
เป็นคำตอบจาก “เต้ง-พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลต้องการจากโครงการ “เซ็นทรัล ทำ”ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ (CENTRAL THAM) คืออะไร? ซึ่งเขายังอธิบายเพิ่มเติมถึงความสำเร็จของโครงการนี้ ที่วัดได้จากคนในพื้นที่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น มีความสุขยิ้มหัวเราะกันมากขึ้น ที่สำคัญคนหนุ่มสาวลูกหลานที่ออกไปทำงานในกรุงเทพฯ เริ่มทยอยกลับมาทำงานที่บ้านเกิดกันมากขึ้น
นับเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ที่ “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ ดำเนินกิจกรรมการลดความเหลื่อมลํ้า โดยการสร้างโอกาสและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผ่านกลยุทธ์หลากหลายมิติ เช่น การส่งเสริมด้านการศึกษา สร้างอาชีพให้คนพิการ ควบคู่การพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตของชุมชนด้วยการสร้างอาชีพ ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง แบ่งปันความรู้และทักษะต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนช่องทางการขายและสื่อสารทางการตลาด พร้อมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
ชุมชนต้องแข็งแรง
“การทำงานร่วมกับชุมชน เราจะลงพื้นที่ไปอยู่ ไปกินนอนกับเขา เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะไม่เชื่อใจเรา ช่วงแรกชาวบ้านจะกังวลว่าเซ็นทรัลจะมาทำอะไรกับเขา เพราะที่ผ่านมาเขาโดนมาเยอะ ตรงนี้เราก็จะต้องทำให้เขาเห็นว่าเราต้องการมาช่วยเหลือจริง ๆ ส่วนเรื่องของวิธีที่ใช้ในการเลือกพื้นที่นั้น เราจะมีทีมจากเซ็นทาราเข้าไปสำรวจและประเมินก่อนในเบื้องต้นว่าชุมชนใด หรือโรงเรียนใดมีความน่าสนใจและชุมชนนั้นก็จะต้องแข็งแรง เพราะถ้าเราเข้าไปแล้วเขาไม่แข็งแรง เดี๋ยวจะเกิดปัญหาทะเลาะกันเรื่องของผลประโยชน์ในระยะยาว” พิชัย กล่าว
พิชัย เล่าต่อว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงไปในพื้นที่ จะมีการเรียกรวมตัวคนในชุมชนมาทั้งหมด เพื่อพูดคุยถึงปัญหา สาเหตุ และแนวทางในการแก้ไขที่ทางทีมเซ็นทรัลวางแผนมาให้ จากนั้นจะให้เวลาฝั่งชุมชนกลับไปหารือร่วมกันเพื่อตัดสินว่าจะเข้าร่วมโครงการเซ็นทรัล ทำ หรือไม่ หากตอบรับที่จะเข้าร่วม ก็จะต้องมาเริ่มวางแผนในการทำงานไปทีละขั้นตอน อาทิ “ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืน” แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ที่ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน สนับสนุนโครงการด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร
รุ่นใหม่มีบทบาทขับเคลื่อนการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน นอกจากเป็นแหล่งเพาะปลูกผลผลิตอินทรีย์ที่มีคุณภาพจากต้นทางแล้ว กลุ่มเซ็นทรัลยังเข้าไปช่วยเหลือชุมชนด้านการพัฒนาผลผลิต การรับซื้อ การสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
สร้างศูนย์เรียนรู้ต่อยอดชุมชน
ในแต่ละจังหวัดที่ “เซ็นทรัล ทำ” ได้เข้าไปพัฒนา จะมีการตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากคนในชุมชนนั้น ๆ ส่งต่อไปยังผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงานจากจังหวัดอื่น ๆ ให้เป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป
“เมื่อชุมชนแข็งแรงแล้ว เราจะทำศูนย์การเรียนรู้ให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลตอบรับดีมาก เพราะคนเริ่มมาเรียนรู้เยอะ เครือข่ายมันก็จะกระจายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนในชุมชนเขาเป็นครูแล้ว สอนคนอื่นต่อได้ เมื่อก่อนเขาเป็นลูกศิษย์ผม ตอนนี้เก่งกว่าผมอีก เราอาจไม่ต้องขยายโครงการให้ครบทั้ง 77 จังหวัด เราทำแค่ที่ศักยภาพจะทำไหว แล้วมันออกมาดีทั้งหมด เพราะเราเชื่อในคุณภาพ เราไม่เชื่อในปริมาณ ตอนนี้เราทำโครงการในพื้นที่ต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 44 จังหวัด และยังทยอยทำเรื่อย ๆ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม” พิชัย กล่าว
ทำให้ลูกค้าซื้อเพราะสินค้าดี
เมื่อชุมชนแข็งแรง สินค้าแข็งแรง พร้อมแล้ว เรื่องของแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตในชุมชนกับผู้บริโภคก็ถือเป็นสายพานสำคัญเช่นกัน ฉะนั้นเพื่อให้สายพานดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความแข็งแรงของเซ็นทรัล ทำ จึงเกิดเป็นแบรนด์ “good goods” หรือ กุ๊ด กุ๊ดส์ ที่เป็นมากกว่าร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป แต่เป็นการผสมผสานระหว่างธุรกิจกับการส่งเสริมชุมชนได้อย่างลงตัว นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว ยังเป็นการนำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยมาปรับโฉมให้ทันสมัย เข้าถึงง่าย และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดผู้บริโภค ที่ใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการที่ใส่ใจคุณภาพของสินค้า
“สำหรับ good goods เราเริ่มจากการตั้งชื่อที่คนเรียกง่าย ไม่ต้องไปตั้งชื่อให้มันน่าสงสาร ที่ลูกค้าจะซื้อเพราะช่วยชาวบ้าน แต่ซื้อเพราะสินค้ามันดี มีคุณภาพ แล้วค่อยมารู้ทีหลังว่ามันเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งรายได้ทั้งหมดกลับไปสู่ชุมชน 100% คนซื้อก็ต้องอยากซื้อแล้วเอาไปใช้จริง ๆ ไม่ใช่อยากซื้อเพราะช่วย แล้วเอาไปวางไว้ไม่ได้ใช้จริง แนวคิดตรงนี้ก็ทำให้เกิดเป็น good goods ขึ้นมา”
มากไปกว่านั้น ยังส่งเสริมศักยภาพผู้ที่ต้องการการสนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น คนพิการ ในการพัฒนาทักษะการผลิตสินค้า ผ่านการดำเนินโครงการตะกร้าสานผู้พิการ ร่วมมือกับสมาคมรวมใจพิการ จ.อุดรธานี ส่งเสริมอาชีพด้านการสานตะกร้าพลาสติก เพื่อนำมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods โดยระหว่างปี 2562-2566 สามารถสร้างอาชีพให้ผู้พิการและเครือข่ายกว่า 200 คน สร้างรายได้ให้คนพิการในสมาคมผ่านการรับซื้อสินค้าเพื่อมาจำหน่ายในร้าน good goods เป็นมูลค่ากว่า 12 ล้านบาทในปี 2566
ยืนหยัดเอกลักษณ์ท้องถิ่น
พิชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการสร้างอาชีพและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนแล้ว ขณะเดียวกัน ก็จะต้องดูเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากพื้นที่ที่ทางเซ็นทรัลได้ลงไปดำเนินโครงการ ป่าไม้หลายแห่งโดนตัด ขยะเกลื่อน จึงเริ่มให้ความรู้เรื่องการรีไซเคิล การคัดแยกขยะมาอัพไซเคิลให้กับชุมชน ดังนั้น จะเห็นว่าสินค้าของ good goods จะมีเซคชันของสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตจากการรีไซเคิลและอัพไซเคิล รวมถึงสินค้าปลอดสารพิษมาวางจำหน่ายด้วยเช่นกัน
“สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนเอาไว้ ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนกัน อย่างแม่ทา เขาจะเป็นออร์แกนิก เขาไม่ต้องการความทันสมัยเข้ามาอยู่ในมือเลย ที่ชัยภูมิจะเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องอะโวคาโด ก็จะทันสมัยหน่อย ที่อยุธยาเมล่อน ก็จะดูดิบ ๆ หน่อย เพราะสิ่งแวดล้อมและคนแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน”
หนึ่งในความสำเร็จจากการอนุรักษ์เอกลักษณ์สินค้าท้องถิ่น คือการร่วมมือกับชุมชนบ้านกุดจิก อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร ที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าย้อมครามทอมือแบบดั้งเดิม ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การปลูกฝ้ายและคราม ไปจนถึงการย้อมครามด้วยเทคนิคภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เซ็นทรัล ทำ จึงสร้างศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่สืบสานต่อยอดแฟชั่นวิถีไทย สร้างคุณค่าผ่านดีไซน์ให้แก่งานฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน โดยโครงการศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนได้กว่าล้านบาทในปี 2566 และมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น มากถึง 90 ครัวเรือน ในปี 2567
อีกทั้งล่าสุด ยังได้มีการร่วมมือกับ ‘MOO Bangkok’ โดย พลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป สร้างสรรค์คอลเลกชันพิเศษภายใต้แบรนด์ good goods เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยและเชื่อมต่อองค์ความรู้ สู่การออกแบบร่วมสมัย ผสมผสานเอกลักษณ์ของผ้าย้อมครามแบบดั้งเดิมของชุมชนบ้านกุดจิก เข้ากับดีไซน์ร่วมสมัยในสไตล์ Urban ready to wear ภายใต้คอนเซ็ปต์ Eternal Sunshine ที่สะท้อนความสดใส รอยยิ้ม และพลังบวกจากความสุขที่เรียบง่ายในชีวิต โดยดึงเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาถ่ายทอดผ่านเสื้อผ้า
“เราได้เห็นถึงความตั้งใจและศักยภาพที่เข้มแข็งของชุมชนบ้านกุดจิก ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามทอมือที่พร้อมๆ กับการอนุรักษ์ป่าชุมชนจึงร่วมสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.สกลนคร พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามของชุมชนบ้านกุดจิกให้โดดเด่นเป็นที่รู้จัก โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานเพื่อหาจุดเด่นและเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ได้มีการเข้าไปให้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพ การแปรรูปเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการขายและการตลาด เพื่อนำมาวางขายใน good goods ซึ่งตรงนี้ก็จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน”
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับชุมชนบ้านกุดจิกให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น เซ็นทรัล ทำ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ในการพัฒนาผ้าย้อมครามและการย้อมสีธรรมชาติให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้และการท่องเที่ยวชุมชน โดยดำเนินงานผ่าน โครงการ ป่าให้สี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ผืนป่า สู่ผืนผ้า” คือ แนวคิดในการปรับปรุงป่าชุมชนให้เป็นพื้นที่รวมพันธุ์ไม้ให้สีย้อมผ้าของชุมชน บนพื้นที่ 18 ไร่ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลพันธุ์ไม้ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เก็บไว้เป็นฐานข้อมูล และเก็บตัวอย่างใบไม้ ดอกไม้ เปลือกไม้ นำมาทดสอบการให้สีธรรมชาติ เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อไปในอนาคต
โดยพันธุ์ไม้ที่พบในป่ามีไม้ยืนต้นหลากหลายพันธุ์มากกว่า 318 ต้น ซึ่งการศึกษาข้อมูลพันธุ์ไม้นี้ นอกจากชุมชนจะได้รู้จักพันธุ์ไม้ของตนเองแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงการอนุรักษ์ป่าชุมชนและการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบของชุมชนอีกด้วย ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นการคัดเลือกพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าให้สีนำมาทดสอบการให้สีย้อมผ้า ผ่านกระบวนการกรรมวิธีที่แตกต่างกัน เพื่อให้สีย้อมผ้ามีเฉดสีที่หลากหลายและมีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งจากการทดสอบนำสีย้อมผ้าจากพันธุ์ไม้ในป่าให้สี ได้ 8 เฉดสี ซึ่งแต่ละครั้งอาจให้สีที่ไม่สม่ำเสมอ ทางทีมวิจัยจึงได้นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการควบคุมคุณภาพและสีสันของผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถผลิตผ้าย้อมครามที่มีสีเสถียรสม่ำเสมอได้ในจำนวนมาก
ใครถนัดอะไรก็ทำไป
เซ็นทรัล ทำ ถูกครอบไว้ด้วยกรอบแนวคิดที่ว่า การลงมือทำโครงการต่างๆ ที่มีเป้าประสงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การสามารถสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมได้นั้น จะต้องเกิดจากการการร่วมมือร่วมมือใจกันของทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของชุมชนเอง และหน่วยงานหรือพันธมิตรที่อยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ นี่จึงเป็นที่มาของความตั้งใจในการสร้าง ‘พลังของการร่วมลงมือทำ’
โดยพิชัย ย้ำว่า ทุกคนที่มาร่วมกันในโครงการนี้ มีศักยภาพที่สามารถจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของชุมชนแต่ละพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส เด็กมีปัญหา เกษตรกร สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเรื่องการจัดการขยะ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทว่าแต่ละคนไม่จำเป็นจะต้องลงมือทำในทุกเรื่อง โดยให้ทำเฉพาะในเรื่องที่ตนชำนาญและมีความตั้งใจอยากจะทำเท่านั้นก็เพียงพอ
ยังมีโครงการจากเซ็นทรัล ทำ อีกจำนวนมากที่สร้างคุณค่าในด้านต่างๆ ให้กับชุมชนอย่างมหาศาล และอาจไม่ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงจนครบ ทว่าอย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 7 ปี ผลของพลังแห่งการร่วมกันลงมือทำอย่างตั้งใจจริงได้ก่อเกิดเป็นผลิตผลและผลิตภาพที่สร้างคุณประโยชน์ตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน สะท้อนจากภาพความสำเร็จของโครงการเซ็นทรัล ทำ ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,700 ล้านบาทต่อปี สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนกว่า 150,000 ราย, สร้างงานและสนับสนุนอาชีพคนพิการ 1,011 คน, สนับสนุนและพัฒนาโรงเรียน 167 แห่ง
ทั้งยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero ด้วยการลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบกว่า 20,830 ตัน, ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารกว่า 1,486 ตัน, เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่ากว่า 9,411 ไร่, ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา 170 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่า 114,200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไปมากถึง 1,356 สถานี
“เวลาทุกคนทำร่วมกัน อย่าเพิ่งไปหวังว่า ได้อะไร อยากให้มองใครถนัดทำอะไรก็ทำไป เดี๋ยวมันได้เอง ทำไปเถอะ เพราะคุณต้องเป็นตัวจริง สิ่งที่เราหวังก็คือผู้บริโภคได้ของที่ดี ผักผลไม้ที่เราปลูก เป็นของออร์แกนิก ปลอดสารพิษจริง ๆ ก็คือเราต้องการให้ลูกค้าเราได้บริโภคหรือใช้ของที่มันดี ถ้าถามว่าผลลัพธ์ที่ย้อนกลับมาคืออะไร ผมว่ามันทำให้สังคมของเราดีขึ้น ซึ่งจริง ๆ ถ้าเราทำอะไรด้วยความจริงใจ เดี๋ยวมันก็มีสิ่งดี ๆ กลับมาเอง อย่าไปหวังอะไร” พิชัย กล่าวทิ้งท้าย.