คำกล่าวที่ว่า ‘โลกเปลี่ยน ธนาคารก็เปลี่ยน’ ฟังดูแล้วคงไม่เกินจริงนัก สำหรับยุคสมัยที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ ‘ภาคธนาคาร’

ในอดีต ธนาคารอาจถูกมองว่าเป็นเพียงสถาบันการเงินที่ให้บริการด้านการเงิน ทว่าปัจจุบัน ธนาคารต่างตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งการลดคาร์บอนตลอดห่วงโซ่ หรือ Supply Chain Carbon Reduction เป็นแนวทางที่ธนาคารหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ตั้งแต่การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ไปจนถึงการดำเนินงานภายในองค์กรให้เป็นไปตามหลักการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างที่ล่าสุด ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มุ่งสู่ธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน (The Leading Sustainable Bank) วางกรอบพันธกิจความยั่งยืน ชูแนวคิด ‘อยู่ อย่าง ยั่งยืน’ (Live Sustainably) ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนตามที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งการประกาศดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น รวมถึงบทบาทสำคัญที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงินต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

“ธนาคารไทยพาณิชย์ จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการช่วยผลักดันช่วยเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งผมเรียนว่า เป้าหมายของความยั่งยืน ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เรามีประวัติอันยาวนานในการเป็นธนาคารไทยธนาคารแรก มาเมื่อ 117 ปี มีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการสร้างความยั่งยืนไปสู่อนาคต และพร้อมที่จะส่งต่อความยั่งยืนนั้นให้กับลูกค้า คู่ค้าของลูกค้า คนไทย และให้กับประเทศไทยในการเดินไปข้างหน้า ผู้คนจะต้องดำเนินชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม ธุรกิจจะต้องเติบโตควบคู่ไปกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สังคมของเรา อยู่ อย่าง ยั่งยืน” นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำกล่าว ของ ‘กฤษณ์ จันทโนทก’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ในงาน SCB Live Sustainably

‘กฤษณ์’ ฉายภาพให้เห็นว่า ภายใต้แนวคิด ‘อยู่ อย่าง ยั่งยืน’ ธนาคารไทยพาณิชย์เชื่อมั่นว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องร่วมกันตั้งเป้าหมาย สร้างแรงกระเพื่อม ประสานความร่วมมือ เพื่อสร้างอนาคตให้เราทุกคนได้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน โดยมีบทบาทในการสนับสนุนความยั่งยืนด้วยการจัดสรรเงินทุนให้แก่ลูกค้า (Sustainable finance) กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ พร้อมนำความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของธนาคารเข้าสนับสนุนการดำเนินงานความยั่งยืนทุกมิติ ทั้งนี้ ธนาคารได้วางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะสำคัญ ได้แก่ 1. สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน จำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2025 โดยปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2024 ได้สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท (โดยนับตั้งแต่ปี 2023) 2. ปรับการดำเนินงานองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030 และ 3. เป็นธนาคารไทยแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science-Based Targets Initiative (SBTi) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาท สู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว

“ธุรกิจในปัจจุบันกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยความท้าทายใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอันเป็นผลต่อเนื่องมาถึงการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางสังคมคาร์บอนต่ำด้วยการปรับนโยบายและกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การที่ภาคธุรกิจทั้งระบบกำลังปรับตัวไปพร้อมๆ กันนี้เอง ก็เป็นโอกาสที่จะสร้างการขยายตัวให้เศรษฐกิจครั้งใหม่ได้อย่างมหาศาล ด้วยกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของธนาคาร ซึ่งครอบคลุมถึงมิติด้านความยั่งยืนที่มีการดำเนินงานด้านนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมาตลอด 3 ปี โดยมุ่งมั่นเป็นธนาคารชั้นนำแห่งความยั่งยืน ธนาคารจึงได้กำหนดแนวคิด อยู่ อย่าง ยั่งยืน เพื่อเป็นหลักปฏิบัติที่จะนำการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกคน” กฤษณ์ กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ ‘Digital Bank with Human Touch’ ที่กฤษณ์ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น เป็นกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่แบ่งออกเป็น 3 แกน ซึ่งประกอบไปด้วย 1) Sustainable Banking สนับสนุนการเงินยั่งยืนแก่ลูกค้า เพื่อสนับสนุนลูกค้าลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจกับคู่ค้า และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นการเสริมโอกาสทางธุรกิจ ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในการสร้างสรรค์และพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไทยพาณิชย์เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักทางวิทยาศาสตร์ (SBTi) และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ (Equator Principles Association: EP) ในการนำหลักการ EP ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มาใช้ในการกำหนดนโยบายพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม สำหรับการพิจารณาสินเชื่อโครงการของธนาคาร เตรียมเงินทุนสนับสนุนการเงินยั่งยืนระหว่างปี 2023-2025 รวมกว่า 150,000 ล้านบาท และปัจจุบันได้อนุมัติวงเงินดังกล่าวไปแล้วกว่า 111,000 ล้านบาท

2. Corporate Practice Excellence สร้างองค์กรแห่งความยั่งยืน มุ่งเน้นการนำไทยพาณิชย์ให้เป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero 2030 จากการดำเนินงานภายใน ทั้งทางด้านการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในองค์กรให้เป็นระบบประหยัดพลังงาน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้วยการสร้างวัฒนธรรมความยั่งยืนภายในองค์กร พร้อมปลูกฝัง DNA ความยั่งยืนให้พนักงานธนาคารทุกคนด้วยทักษะและหลักสูตรต่างๆ พร้อมบูรณาการให้ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของทุกส่วนงานเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในองค์กรและช่วยเหลือลูกค้า

และ 3. Better Society มุ่งมั่นพัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง และได้ร่วมช่วยบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขแก่เยาวชน ชุมชน และสังคมไทย มาเป็นเวลามากกว่า 3 ทศวรรษ ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสำหรับโลกอนาคต ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาเยาวชน ผสานด้วยเทคโนโลยีของธนาคารที่เข้าไปร่วมสร้างระบบนิเวศทางด้านการเงินและดิจิทัล มอบองค์ความรู้และส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีให้ผู้คนในรูปแบบที่เป็นไปได้  อาทิ ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นโครงการ Smart University และ Smart Hospital โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ แล้วกว่า 400,000 ราย

สอดคล้องกับการที่ ‘ดร. ยรรยง ไทยเจริญ’ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กล่าวถึงกลยุทธ์เป้าหมาย Net Zero ของธนาคารเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ว่า ธนาคารได้วางกรอบพันธกิจในการผลักดันเป้าหมาย Net Zero สำหรับพอร์ตสินเชื่อและการลงทุน (Scope 3 Category 15 Investment) ภายในปี 2050 ตามมาตรฐาน SBTi (Science Based Targets Initiative) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด จากกรอบการดำเนินงานที่อยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของ SCBX ดังนั้นไทยพาณิชย์จึงนับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของไทยที่ประกาศเจตจำนงสู่เป้าหมาย Net Zero ตามกรอบ SBTi ถือเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และสร้างความพร้อมให้กับเศรษฐกิจไทยต่อความท้าทายและโอกาสของสังคมคาร์บอนต่ำ

โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศและประชาคมโลกจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีรุนแรงยิ่งขึ้น  2. การบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ผ่านการสนับสนุนลูกค้าเพื่อให้สามารถปรับตัวก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สามารถแข่งขันได้ภายใต้กฎระเบียบใหม่ทางการค้าการลงทุนของโลก และ 3. โอกาสทางธุรกิจ จากความต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากอุตสาหกรรมต่างๆของไทยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังมีความมุ่งมั่นในการเป็น ‘True partner’ ให้กับลูกค้า ตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการสนับสนุนด้านการเงินที่ยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ (Sustainable Finance) ที่ครบถ้วนในทุกกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรม ตลอดจนการให้ความรู้และคำแนะนำการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความพร้อมและความต้องการของลูกค้าผ่านการจับมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในมิติต่างๆ ในการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อสนับสนุนการลงมือปฏิบัติได้จริง และนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน  โดยธนาคารดำเนินการผ่านกลยุทธ์ ไว้ 3 ด้าน ตั้งแต่ การบริหารพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับ Net Zero Target, การสนับสนุนลูกค้าตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักการ Equator Principles เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ