ไม่นึกว่า “พรรคภูมิใจไทย (ภท.)” จะมีปัญหาในโค้งสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้นิ่งที่สุด แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อรัฐมนตรี หลังมีข่าวสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ตีกลับรายชื่อ “นายชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย (มท.3) ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นยืนยันกับสื่อว่าไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ แต่ต่อมาได้บอกกับนักข่าวว่า ได้ถอดรายชื่อตนเองออกเอง โดยจะส่ง “น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” บุตรสาว มาสานงานต่อ ทำให้เกิดคำถามว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ “นายชาดา” ขอประกาศถอนตัว
สำหรับประวัติรัฐมนตรีป้ายแดง “น.ส.ซาบีดา” ในฐานะว่าที่รมช.มหาดไทย ชื่อเล่น “ดีดา” บุตรสาวของนายชาดา ปัจจุบัน อายุ 39 ปี 11 เดือน เกิด 11 ต.ค. 2527 เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชาดา อายุ 63 ปี และนางเตือนจิตรา แสงไกร อายุ 61 ปี จบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และจบปริญญาโท นิติศาสตร์บัณฑิตที่ลอนดอน ในส่วนของการทำงานการเมืองนั้น น.ส.ซาบีดา ทำงานใกล้ชิดกับผู้เป็นพ่อมาตลอด เนื่องจากเป็นหนึ่งในคณะทำงานรมช.มหาดไทย และเป็นตัวแทน “นายชาดา” ทำงานดูและประชาชนในพื้นที่จ.อุทัยธานี ด้วย
ขณะที่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภท. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ได้ถอดรายชื่อตนเองออกจากครม.ชุดใหม่ว่า ทุกอย่างต้องทำให้ลงตัว และเกิดการทำงานให้สมูทมากที่สุด ทั้งนี้ที่เปลี่ยนเพราะให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย เพราะเราให้ความสำคัญในเรื่องของจริยธรรม พยายามที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น เราจะทำให้ปัญหานั้นแห้งไป เมื่อถามว่าพรรคภท. ส่งไปทั้งหมดกี่ชื่อ นายอนุทิน กล่าวว่า เพิ่งส่งชื่อใหม่ไปเมื่อเช้านี้ ทั้งนี้ในส่วนของรายชื่อที่เพิ่มเป็นชื่อของ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ บุตรสาวนายชาดา เคยประกอบธุรกิจ แถมยังจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ และได้เจอ “น.ส.ซาบิดา” เมื่อถามอีกว่าโผครม.นิ่งแล้วใช่หรือไม่ นายอุทินกล่าวว่า ในส่วนของพรรคภท.ก็คงนิ่งเท่านี้ เปลี่ยนไม่ไหวแล้ว
ก่อนหน้านั้นในส่วนโผของพรรคเพื่อไทย (พท.) มีชื่อ “นายอัครา พรหมเผ่า” น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาเป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร เป็นรมช.เกษตรฯ แทน นายอรรถกร ศิริลัทธยากร บุตรชาย หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ก็ถูกมองว่า “นายทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีส่งเข้ามาเพื่อสานต่ออำนาจทางการเมือง จึงไม่แปลกเมื่อจะมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นครม.ครอบครัว พ่อส่งลูกมารับตำแหน่งทางการเมืองแทน หรือลูกให้บุพการีมารับตำแหน่งแทน
ด้าน “นายปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่ครม.ว่า ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว โดยสลค.ตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับลักษณะผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอยู่ระหว่างการเตรียมคำฟ้อง จะมีการวินิจฉัยอย่างไร และขัดหรือไม่ขัด ซึ่งได้ให้ความเห็นตามที่ถามมาประมาณ 10 กว่าประเด็น แต่ไม่ได้ตรวจสอบเป็นรายบุคคล เนื่องจากไม่ได้เห็นรายชื่อ และไม่ทราบว่ามีทั้งหมดกี่ราย ทั้งนี้กรณีที่มีการร้องเรียนไปยังป.ป.ช.และอยู่ระหว่างการไต่สวนยังไม่ได้มีการชี้มูลไปตัดสินว่าเขาผิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ (รธน.) ไม่ได้ระบุไว้ขนาดนั้น ถือเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการถูกกล่าวหา จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่ามีการกระทำความผิด อย่างไรก็ตามได้แนะนำกลับไปว่า จะต้องมีการดูรายละเอียดเป็นกรณีไป
เมื่อถามว่าหากตรวจสอบเป็นประเด็นแต่ไม่ได้ตรวจสอบรายบุคคลจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่เพียงให้ความเห็นประกอบการดุลพินิจของนายกฯ ส่วนอำนาจในการตัดสินวินิจฉัยเป็นของศาลรธน. ซึ่งกระบวนการร้องเรียนในประเทศไทยทำได้ง่าย ร้องเรียนได้ตลอดเวลาจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลจึงจะเป็นข้อยุติ
แต่ในที่สุดเรื่องจริยธรรมก็ส่งผลทำให้ “นายชาดา” ต้องยอมถอยเพราะหลังจาก “นายเศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ อันเนื่องมาจากการแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำจำสำนักนายกฯ โดยศาลรธน. วินิจฉัยว่า กระทำการขัดหลักจริยธรรม ทำให้การสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาทำงานในรัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์ ต้องทำด้วยความรอบคอบและรัดกุม ผ่านการตรวจสอบจากสลค. และคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ ที่มี “นายมีชัย ฤชุพันธ์” และ “นายวิษณุ เครืองาม” สองกูรูด้านกฎหมาย ซึ่งร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )
ส่วนความคืบหน้าในการนำรายขึ้นทูลเกล้าฯ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมส่งรายชื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) “แพทองธาร 1” ว่า จะสามารถลงนามรายชื่อครม.ทั้งหมดเพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งต้องประสานกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถามว่ายึดหลักการอะไรในการจัดตั้ง ครม.ครั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ระบุว่า คนที่ถูกเลือกมาใหม่ และคนที่อยู่คงเดิมเห็นถึงศักยภาพอยู่แล้วว่า ใครพร้อมจะทำงาน จากที่อยู่ในพรรคมากกว่า 3 ปี จะเห็นว่าใครประมาณไหนอย่างไร จริงๆ แล้วอยากชนะอย่างที่คุณพ่อชนะ 377 เสียง เราจะได้ให้ทุกคนมีทุกตำแหน่ง แต่มันก็ได้แค่ปริมาณหนึ่งก็ให้ช่วยกัน ของพรรคอื่นก็มีด้วย ให้ทุกคนได้แสดงความสามารถด้วย อยากบอกประชาชนว่านายกฯ คนนี้มีทีมที่ดีมาก
เมื่อถามว่า การประชุมสส.พรรคพท. ได้กำชับในที่ประชุมสส.ของพรรคให้เร่งทำงาน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เป็นเรื่องของพื้นที่มากกว่า เพราะนโยบายกรอบใหญ่คลุมไว้หมดแล้ว แต่จะมีปัญหาเล็กๆ ของชาวบ้าน ที่คิดว่าเอามาแก้ได้ อยากให้ทำและใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งสส.ก็ทำอยู่แล้ว ได้พูดคุยกันในทีมและวางไทม์ไลน์ ว่าเมื่อแถลงนโยบายเสร็จแล้วจะทำอะไรก่อนหลังบ้าง เมื่อถามว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่มีเวลาฮันนีมูน และต้องทำงานทันทีใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “ไม่ได้แล้วค่ะ เพราะเข้ามาต่อจากคุณเศรษฐา งานก็ดำเนินอยู่แล้ว ต้องทำต่อ”
จากนี้ต้องรอลุ้นโฉมหน้า ครม.ภายใต้การนำของน.ส. แพทองธาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิม แม้จะมีคนใหม่เข้ามาสับเปลี่ยนบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นไปตามสำนวน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ดังนั้นหลายคนจึงคาดหวัง คงไม่มีช่วงทดลองงานเพราะเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปี ต้องรอดูรัฐบาลจะสร้างศรัทธาให้ประชาชน ได้ตามที่หลายคนรอลุ้นหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่จับตามองคือ เสียงสนับสนุนของรัฐบาล ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพท.แกนนำ ส่วนพปชร. ก็แตกเป็น 2 เสี่ยง ฝ่าย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค ต่างแยกทางกันเดิน โดยระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาทวาระที่สอง
ช่วงการลงมติในมาตรา 4 งบประมาณฯ ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 266 ต่อ 147 เสียงนั้น พบว่า คะแนนเสียงที่เห็นชอบมาจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ลงมติไปทางเดียวกัน รวมถึงพรรคปชป.ที่เพิ่งเข้าร่วมการเป็นรัฐบาลก็มีเสียงสส. ลงมติให้ความเห็นชอบมาตรานี้ จำนวน 13 คนจากจำนวนสส.ทั้งหมด 25คน ในจำนวนนี้มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ ลงมติให้ความเห็นชอบมาตรา 4 เช่นกัน แม้จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลของพรรคปชป.
ขณะที่นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลนั้น ไม่พบว่า มีการลงมติในมาตรานี้แต่อย่างใด ขณะเดียวกันมี สส.ปชป.อีกหลายคนที่ไม่มีการลงมติในมาตรา 4 อาทิ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา น.ส.สุภาพร กำเนิดผล สส.สงขลา นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช
ส่วนพรรคพปชร.ที่เพิ่งถูกขับออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีสส.40คน พบว่า มีการลงมติมาตรา4 แตกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ลงมติเห็นด้วย 14 เสียง ล้วนเป็นสส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส อาทิ นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.ตาก นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สส.กำแพงเพชร นางรัชนี พลซื่อ สส.ร้อยเอ็ด นายบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เป็นต้น
2.กลุ่มที่ลงมติไม่เห็นด้วยมี 14 คน เป็นสส.กลุ่มพล.อ.ประวิตร อาทิ นางขวัญเรือน เทียนทอง สส.สระแก้ว นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ สส.เพชรบูรณ์ นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สส.สิงห์บุรี นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ นายอนันต์ ผลอำนวย สส.กำแพงเพชร นายปริญญา ฤกษ์หร่าย สส.กำแพงเพชร นายทวี สุระบาล สส.ตรัง นายคอซีย์ มามุ สส.ปัตตานี เป็นต้น
3.กลุ่มที่ไม่ปรากฏผลการลงคะแนนมีทั้งขั้วของ พล.อ.ประวิตร และขั้วร.อ.ธรรมนัส อาทิ พล.อ.ประวิตร ร.อ.ธรรมนัส นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สส.เพชรบูรณ์ นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.สงขลา เป็นต้น
ส่วนพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค มีสส. 6 คน ปรากฏว่า ลงคะแนนแตกเป็น 2กลุ่มคือ 1.กลุ่มลงมติเห็นชอบ 3 คนได้แก่ นางสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร นายหรั่ง ธุระพล สส.อุดรธานี นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.อุดรธานี ที่มักโหวตสวนมติพรรคมาตลอด 2.กลุ่มลงมติไม่เห็นชอบ 3 คน ได้แก่ นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ สส.อุบลราชธานี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่เพิ่งลงมติเห็นชอบให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ด้านพรรคเสรีรวมไทย(สร.) ที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ปรากฏว่า นายมังกร ยนต์ตระกูล สส.บัญชีรายชื่อ ไม่ปรากฏผลการลงคะแนนมาตรา 4
ต้องถือว่าภาพพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ชัดเจน คงต้องรอดูในการพิจารณาญัตติที่มีความสำคัญ เสียงของรัฐบาลจะมากถึง 320 เสียง อย่างที่ “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล บอกไว้หรือไม่