จากกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เปิดข้อความแชตไลน์ ยืนยันการเข้าพบ “นายทักษิณ ชินวัตร“ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ ขณะนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ภายหลังจากที่นายทักษิณ เคยปฏิเสธเรื่องดังกล่าวกับสื่อมวลชน โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกมาระบุว่าตนเองได้เข้าพบนายทักษิณถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 และอีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ. 2567 ซึ่งในการเข้าพบแต่ละครั้งกลับไม่เจอเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าอยู่หน้าห้อง พร้อมเตรียมเเฉอาการเจ็บป่วยของอดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ก่อนประกาศกร้าวว่าคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะต้องรับผิดชอบ หรือต้องเข้าคุก ต่อมานายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมายืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าเยี่ยมนายทักษิณ ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ประกาศชัดว่า กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม พร้อมรับฟังข้อมูลจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก นพ.สมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ว่า ตนขอยืนยันว่าในการปฎิบัติหน้าที่ตรงนี้ ราชทัณฑ์ได้ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนของ SOPs หรือมาตรฐานการปฏิบัติงานควบคุมผู้ต้องขัง และมีหลักฐานเพื่อชี้แจงได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรายงานการควบคุมดูแลผู้ต้องขังต่อผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ไปปฏิบัติงาน การมีเวรตรวจตราความปลอดภัยและความเรียบร้อย อีกทั้งตลอดเวลาที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ อยู่บนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จำนวน 4 ราย ผลัดกันเข้าเวรควบคุมตลอด 24 ชม. แบ่งเป็นช่วงเช้า 2 ราย และช่วงค่ำ 2 ราย เพราะตามแนวทางปฏิบัติผู้ต้องขัง 1 ราย จะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 รายในการดูแล อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการงานควบคุมดูแลผู้ต้องขัง ราชทัณฑ์จะละเลยการปฎิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ส่วนกรณีการรายงานการปฎิบัติหน้าที่ของผู้คุมต่อผู้บัญชาการเรือนจำนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนโยบายของแต่ละเรือนจำที่จะวางมาตรการป้องกันการหลบหนีของผู้ต้องขัง โดยที่กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ไปบังคับหรือกำหนดนโยบายดังกล่าว ดังนั้น การถ่ายภาพรายงานส่งเป็นหลักฐานการเข้าเวรของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงขึ้นอยู่กับแต่ละเรือนจำ ถือเป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำที่จะสั่งการปฏิบัติอย่างไร เป็นการตรวจสอบการทำงานภายในกันเองของเรือนจำ ระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชา ส่วนถ้าหากผู้กล่าวอ้างจะกล่าวอ้างอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของผู้นั้น และการพูดในแต่ละครั้งก็ควรมีพยานหลักฐานด้วย หรือถ้าหากประสงค์จะให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนอย่างไรก็ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ราชทัณฑ์พร้อมชี้แจงทุกกระบวนการดำเนินงาน

เมื่อถามถึงเรื่องการเบิกเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ปฏิบัติควบคุมดูแลนายทักษิณ เมื่อครั้งนอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำฯ บนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น โฆษกกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า กระบวนการต่าง ๆ ที่ราชทัณฑ์จะต้องปฏิบัติ ยืนยันได้เลยว่าทำตามข้อกำหนดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเบิกเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ อยู่ในระบบราชการทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะการเบิกเบี้ยเลี้ยงเกิดขึ้นจากการที่เรามีเจ้าที่ราชทัณฑ์ไปปฎิบัติหน้างานจริง

ต่อข้อถามว่าทาง ป.ป.ช. ได้มีการเชิญให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ไปให้ข้อมูลเรื่องการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำของนายทักษิณ บ้างหรือไม่ โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทยอยเดินทางเข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไปบ้างแล้ว เพราะทราบว่าขณะนี้ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างกระบวนการไต่สวน ทั้งนี้ ราชทัณฑ์ยินดีให้ข้อมูลหากทาง ป.ป.ช. ประสงค์ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องใด ส่วนเรื่องไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดบนชั้น 14 จะไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่และอำนาจของ รพ.ตำรวจ ในฐานะเจ้าของสถานที่ ราชทัณฑ์จึงไม่มีสิทธิ์ในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้เดินทางเข้าให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. เรื่องการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำของนายทักษิณ ชินวัตร บนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กองทัณฑวิทยา เจ้าหน้าที่กองบริการทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นต้น.