เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้อง ประธานกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่ประจำเขตตรวจราชการทั้ง 18 เขต ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก และบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ. ไม่ใช่เพียงการจัดทำแผนการเรียนรวมหรือยกเลิกสถานศึกษา ในการดำเนินการต่อจากนี้จะต้องมุ่งเน้นการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กในทุกมิติ ทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านบริหารทั่วไป โดยในด้านวิชาการ จะดำเนินการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น ส่วนในด้านงบประมาณ สพฐ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาและวางแผนจัดตั้งงบประมาณในลักษณะ TOP UP เพิ่มเติมให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 60 คน นอกเหนือจากเงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับ ขณะที่ในด้านบริหารงานบุคคล ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ ไปศึกษากฎระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่สามารถดำเนินการได้ ในการจัดกลุ่มเครือข่ายคุณภาพ สามารถนำกรอบวงเงินของครูในกลุ่มเครือข่ายมารวมกันเพื่อนำไปพิจารณาให้กับครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 60 คน ได้มากขึ้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่จำนวนมากในโรงเรียนขนาดเล็ก อีกทั้งต้องจัดรูปแบบการบริหารเจ้าหน้าที่ธุรการ ให้สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายเหล่านั้นโดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และในด้านการบริหารทั่วไป ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ของโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนแล้ว (นักเรียนศูนย์คน) ว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีการบริหารจัดการอย่างไร รวมทั้งจะให้ดำเนินการสำรวจข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี สำหรับโรงเรียนที่มีการรวม หรือเลิกสถานศึกษาไปแล้ว ว่าทาง สพท. มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับพื้นที่อย่างไร
.
“การพัฒนาคุณภาพในโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 29,152 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,327 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 52.58 ของโรงเรียนทั้งหมด และจำแนกเป็นโรงเรียน STAND ALONE หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 1-120 คน และไม่สามารถยุบรวมโรงเรียนได้เพราะเด็กต้องมาเรียนอยู่ จำนวน 4,349 โรงเรียน ซึ่งหากเราสามารถบริหารโรงเรียนขนาดเล็กให้ดีขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นก้าวหนึ่งในการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว