เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโฆษก สปสช. พร้อมด้วย นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมกันชี้แจงกรณีโรงพยาบาลรัฐ 403 แห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่ได้รับงบบัตรทองผู้ป่วยในจาก สปสช. ว่า ในส่วนของเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว มีเงินค่าบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป ผู้ป่วยในทั่วไป ค่าบริการกรณีเฉพาะ ค่าบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ค่าบริการทางการแพทย์แผนไทย ส่วนของเงินผู้ป่วยใน สปสช.มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนและมีการตัดเงินในส่วนเงินเดือนหรือค่าแรงหน่วยบริการของรัฐด้วย เพราะสำนักงบประมาณได้จ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการโดยตรงอยู่แล้ว

ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณปี 2567 มี พ.ร.บ.งบฯ ผ่านช้ามาก การจ่ายเงินของ สปสช.จึงใช้ตัวเลขงบฯ ในปีก่อนหน้าไปพลางก่อน ช่วงต้นปีหักเงินเดือนออกจำนวนไม่มากนัก และเมื่อมีการอนุมัติใช้งบฯ ปี 2567 แล้ว ก็ได้หักเงินเดือนออกมากขึ้น เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว ทำให้ไม่ได้จ่ายเงินเพิ่ม แต่เมื่อคำนวณเงินที่ได้รับก็ได้ครบทั้งหมด ซึ่งคาดว่าปีหน้าคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพราะงบฯ ปี 68 ก็ผ่านการอนุมัติจากสภาเรียบร้อยแล้ว การหักเงินเดือนก็จะเกลี่ยให้เท่าๆ กันทุกเดือน โดยเริ่มต้นที่ 8,350 บาทก่อน

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ส่วนเงินที่จัดสรรให้ในเดือน ก.ย.นี้นั้น ยืนยันว่า มีจ่ายแน่นอน โดยที่ประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ให้ สปสช.จ่ายในอัตรา 7,000 บาท ต่อ adjRW ในอนาคตทางออกของเรื่องนี้ก็ต้องมีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งนี้ สปสช.ก็มีตั้งของบฯ เพิ่มทุกปี ส่วนจะได้รับเพิ่มมากน้อยเท่าไรก็ขึ้นกับสำนักงบฯ นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลเองก็มีรายรับจากส่วนอื่น ได้แก่ เงินบำรุงโรงพยาบาล รวมทั้งเงินสนับสนุนค่าบริการ OP Anywhere หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ อีก 5,910 ล้านบาทอีกด้วย 

นพ.ดุสิต กล่าวว่า สธ.ได้กำหนดค่าถ่วงน้ำหนักบริการผู้ป่วยใน หรือค่า K เป็นแต้มต่อเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก เพื่อจัดสรรงบเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ส่วนโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลศูนย์จะไม่มี ในลักษณะพี่ช่วยน้อง ดังนั้นเงินค่าผู้ป่วยใน ที่กำหนดไว้ 7,000 บาทต่อหัว บางโรงพยาบาลก็อาจจะได้รับมากขึ้นหรือน้อยลงได้ ซึ่งบางโรงแม้ว่าจะได้ส่วนเพิ่มจากค่า K รวมทั้งเงินอุดหนุนสำหรับพื้นที่กันดาร ห่างไกล เสี่ยงภัย ชายแดน ก็ยังไม่เพียงพอ สธ.ก็ต้องหาทางช่วยเหลือเพิ่มต่อไป.