เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอันตรายจากพิษเมทานอล (ยาดองเหล้าปลอม) โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับผลการสอบสวน ซึ่งพบว่ามีหลายขั้นตอนที่เข้าข่ายการกระทำความผิด โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตเหล้าปลอมที่มีการนำสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง คือ เมทานอล หรือ เมทิลแอลกอฮอล์ มาทำเป็นเหล้าเถื่อน ก่อนนำไปปรุงแต่งเป็นเหล้ายาดอง และกระจายขายตามซุ้มยาดองในที่ต่างๆ ส่งผลให้มีประชาชนหลายคนเจ็บป่วยและเสียชีวิตตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยกรมการแพทย์ได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากเมทานอล ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.-3 ก.ย. 2567 มีทั้งหมด 44 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 ราย รักษาหายแล้ว 31 ราย และยังอยู่ระหว่างการรักษาอีก 5 ราย แยกเป็น รพ.นพรัตนราชธานี 2 ราย รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.เชียงคำ แห่งละ 1 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอาการสีแดง 4 ราย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2567 ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษา และในวันนี้ได้มีการปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) รพ.นพรัตนราชธานี แล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาการได้รับพิษเมทานอลจากเหล้าปลอม พบมีการรายงานผู้ป่วยเป็นประจำทุกปี ที่ประชุมจึงได้พิจารณาแนวทางและมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ และหารือถึงช่องว่างทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นแหล่งผลิตทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นพบว่า แอลกอฮอล์แต่ละชนิดมีกฎหมายหลายฉบับ ควบคุมกำกับดูแลโดยหลายหน่วยงานในการนำมาใช้ผลิตในระดับอุตสาหกรรม ทั้ง พ.ร.บ.อาหาร, พ.ร.บ.ยา, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง, พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, พ.ร.บ.สุรา, พ.ร.บ.สรรพสามิต และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ยกตัวอย่าง กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ กำหนดให้ใช้ “เอทานอล” ผลิตอาหารที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% เช่น ช็อกโกแลต เครื่องดื่ม เป็นต้น หรือเป็นวัตถุเจือปนอาหาร นำมาทำเป็นยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ หรือเจลล้างมือได้ ส่วน “ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์” ใช้ได้เพียงเป็นวัตถุเจือปนอาหาร แอลกอฮอล์ทำความสะอาดแผล สารช่วยกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเจลล้างมือเท่านั้น ขณะที่ “เมทิลแอลกอฮอล์” สามารถใช้ได้เพียงอุตสาหกรรมอื่น เช่น สี เฟอร์นิเจอร์

“ที่ประชุมได้ย้ำถึงความร่วมมือกันของทุกหน่วยงาน เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต โดยเฉพาะการนำเมทานอล ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นพิษมาผลิตเป็นยาดองและเหล้าปลอม โดยในส่วนของ อย. ที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะเข้มมาตรการให้ผู้ประกอบการแจ้งสูตรส่วนประกอบที่ชัดเจน ตรวจสอบการปนเปื้อนและแหล่งที่มา มีบันทึกการผลิตที่ชัดเจน และจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่ผลิต นำเข้า จำหน่าย หากพบผิดมาตรฐาจะแจ้งเตือนภัย เรียกคืนสินค้า พร้อมทั้งให้ประชาชนรับรู้ถึงอันตรายจากการดื่มสุราที่ไม่มีแหล่งผลิตที่ชัดเจน และไม่มีการควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสารเมทานอลที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ไม่สามารถนำมาบริโภคได้” นายสมศักดิ์ กล่าว.