สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำผู้แทนเทศบาลที่ได้รับรางวัลจากการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประจำปี 2566 เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง โดยนายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยนางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก และเทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน โดยนายสอน อิ่นแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง และถ้วยรางวัลชนะเลิศเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ประจำปี 2566 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยพลตำรวจโท สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยนายวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม ในการนี้ อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือผลงานเด่น “วิถีเมืองยั่งยืน 6” ณ วังสระปทุม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การเข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ และถ้วยรางวัลชนะเลิศเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ประจำปี 2566 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจต่อการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท้องถิ่นสู่ความน่าอยู่อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า เทศบาลที่ได้รับรางวัลจากการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประจำปี 2566 ทั้ง 5 แห่ง ถือว่ามีการดำเนินการที่โดดเด่น โดย เทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวและที่พักอาศัย จึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือน โดยออกแบบระบบรักษาความปลอดภัย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ควบคู่กับการประสานความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เมืองตรังเป็น “นครแห่งความปลอดภัย”
“สำหรับ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมการพัฒนาเมืองที่เน้นการทำงานแบบองค์รวม ยึดประโยชน์ของเยาวชนเป็นหลัก บูรณาการความร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน เกิดเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน พร้อมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งคืนพลเมืองคุณภาพสู่สังคม ขณะที่ เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน ได้นำข้อมูลที่ได้จากการบริการ One Stope Service Contor และ Big data มากกว่า 120 ชิ้น มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ระบบการรับแจ้งเหตุและจัดการปัญหาออนไลน์ ระบบภาษีอัจฉริยะ (Smart Municipal Tax) และระบบขออนุญาต และควบคุมอาคารอัจฉริยะ เป็นต้น”
ดร.พิรุณ กล่าววอีกว่า เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มุ่งมั่นพัฒนาสู่เมืองสีเขียว เมืองคาร์บอนต่ำ และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ ภายใต้แผนปฏิบัติการ “เมืองสีเขียว พ.ศ. 2560-พ.ศ. 2570” มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 10 (เทียบกับปี 2563) มีความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก โดยการปรับเปลี่ยนระบบไฟส่องสว่างสาธารณะเป็น หลอด LED ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 1,113 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิต นำเงินมาจัดสร้างสถานีชาร์จรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์ อีกทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ ยังได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต 338 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เมืองแห่งต้นไม้และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะในพื้นที่ทั้งสิ้น 9 แห่งทั้งใหญ่และเล็กรวมถึง ศูนย์ Day Care เปิดให้บริการอยู่ทุกมุมเมือง หนึ่งในนั้น เป็นสวนสาธารณะที่ออกแบบตามหลัก อารยสถาปัตย์ Universal Design สำหรับคนพิการ ผู้สูงวัย และเด็กๆ มาใช้งานได้อย่างปลอดภัย ในเขตเทศบาลมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 10.034 ตารางเมตรต่อคน และทำการจัดทำทะเบียนต้นไม้ใหญ่รวมกว่า 5,000 ต้น ซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูลในระบบ Green Area” ดร.พิรุณ กล่าว
อนึ่ง การดำเนินการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน สส. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ ภายใต้แนวคิด การพัฒนาแบบองค์รวมอย่างบูรณาการ และสมดุลในทุกมิติ โดยพัฒนาเกณฑ์ชี้วัด 4 องค์ประกอบ 34 ตัวชี้วัด ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเมืองแห่งการเรียนรู้ และการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งยังต่อยอดการประเมิน กระบวนทัศน์ ใน 4 มิติ ได้แก่ เมืองธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเมือง พร้อมรับภัยพิบัติ เมืองขจัดมลพิษ และเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดความเข้มข้นของการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Green City, Eco City และ Resilient City เป็นแนวทางการพัฒนา และเป็นเครื่องมือให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางและนโยบายการบริหารจัดการเมือง ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล สร้างสภาพแวดล้อมเมืองให้น่าอยู่ปลอดภัย การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองการจัดการขยะ น้ำ และคุณภาพอากาศที่ดี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง และพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ