สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ว่าผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น 11 คน ระบุในแถลงการณ์ แสดงความกังวลถึงรายงานการประหารชีวิตผู้คนในอิหร่าน อย่างน้อย 81 คน เมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าเดือนก่อนหน้าถึง 45 คน

ขณะที่นับตั้งแต่ต้นปี 2567 มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 400 รายในจำนวนนี้รวมผู้หญิงอย่างน้อย 15 ราย และยูเอ็นแสดงความวิตกกังวล ถึงจำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศแห่งนี้

ตามข้อมูลขององค์การนิรโทษกรรมสากล “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” อิหร่านมีสถิติประหารชีวิตในแต่ละปีมากกว่าทุกประเทศ เป็นรองเพียงจีนเท่านั้น

ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอิหร่าน และผู้รายงานพิเศษด้านการประหารชีวิตนอกกระบวนการยุติธรรม การสังหารอย่างรวบรัด และพลการ กล่าวว่า การประหารชีวิตผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานคดียาเสพติด 41 ราย เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการละเมิดมาตรฐานสากล

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเสียใจ ต่อการเพิ่มขึ้นของการประหารชีวิตเกี่ยวกับคดียาเสพติดในอิหร่าน ซึ่งเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ขณะที่ตลอดปี 2566 มีการประหารชีวิตเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากกว่า 400 ครั้ง และการพิจารณาคดีโทษประหารชีวิตในอิหร่านไม่เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม

ผู้จัดทำรายงานอ้างถึงกรณี นายเรซา ราซาอี ผู้ประท้วงชาวเคิร์ด ซึ่งถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา ในข้อหาฆาตกรรมเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) ซึ่งราซาอีถูกตัดสินโทษแม้จำเลยร่วมถอนคำให้การ และหลักฐานทางนิติเวชไม่สามารถระบุการมีส่วนร่วมของราซาอี มากไปกว่านั้น มีรายงานว่า เขาถูกทรมานเพื่อให้รับสารภาพ

ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า รายงานการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดี และกระบวนการยุติธรรม สื่อให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตที่ใช้อยู่ในอิหร่าน ถือเป็นการประหารชีวิตอย่างผิดกฎหมาย พวกเขากังวลอย่างยิ่งว่า บุคคลที่บริสุทธิ์อาจถูกประหาร พร้อมเรียกร้องให้ยุติการประหารชีวิต.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES