สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงมานามา ประเทศบาห์เรน เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ว่า สำนักข่าวบาห์เรน (บีเอ็นเอ) รายงานว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2568 โดยจะเรียกเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% จากรายได้มากกว่า 750 ล้านยูโร (ราว 28,400 ล้านบาท) ในประเทศ

ความเคลื่อนไหวข้างต้น ทำให้บาห์เรนมีความสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ซึ่งเป็นผู้นำในการกำหนดภาษีขั้นต่ำ 15% ทั่วโลก โดยมีประเทศต่าง ๆ ประมาณ 140 ประเทศ ร่วมเห็นชอบในหลักการ เมื่อปี 2564

“ภาษีดังกล่าวกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมเชิงรุก ระหว่างบาห์เรนกับโออีซีดี ซึ่งย้อนกลับไปถึงปี 2561 และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นระหว่างประเทศของบาห์เรน ต่อความร่วมมือระดับโลก รวมถึงความทุ่มเทเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมและยุติธรรม ในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ” บีเอ็นเอ ระบุเสริม

ทั้งนี้ บาห์เรนพยายามกระจายรายได้ของประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาไฮโดรคาร์บอน เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ่าว โดยโอมาน และคูเวต ดำเนินการเรียกเก็บภาษี 15% กับบริษัทต่างชาติอยู่แล้ว

ด้านนายจัสติน อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา “คาลิจ อีคอนอมิกส์” กล่าวว่า บาห์เรนมีความโดดเด่น เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคล และกำลังดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของโออีซีดี

“แม้กรุงมานามา ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เช่น แอมะซอน เว็บ เซอร์วิส, ไมโครซอฟท์ และเป๊ปซี่ คัดค้านการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลมาตลอดจนถึงช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขัน แต่ปัญหาการขาดดุลการคลังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าผลประโยชน์จากรายได้ที่ประเทศสร้างขึ้น มีน้ำหนักมากกว่าผลกระทบด้านการแข่งขันเชิงลบ” อเล็กซานเดอร์ กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP