เมื่อวันที่ 3 ก.ย. เวลา 09.00 น. ที่วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หมู่ที่ 7 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาสพิธีเทโลหะหล่อสิงห์คู่แบบล้านนา เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ บริเวณด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า ตามโครงการพัฒนาหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก จังหวัดน่าน โดยได้รับเมตตาจากพระครูพัฒน์ศีลาจาร (ดิลก ปริสุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดสิรินธรเทพรัตนาราม ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยมี นายบัณฑูร ล่ำซำ รองประธานกรรมการมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการส่งเสริมสตรีและเด็ก นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายศราวุฒิ สุวรรณทัพ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครปฐม ว่าที่ร้อยโท อรรถชล ทรัพย์ทวี นายอำเภอสามพราน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะศิษย์ยานุศิษย์ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานฝ่ายฆราวาส นำผู้ร่วมพิธีประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรยข้าวตอกดอกไม้ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และถวายสักการะพระครูพัฒน์ศีลาจาร (ดิลก ปริสุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดสิรินธรเทพรัตนาราม ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม แล้วนำผู้ร่วมพิธีร่วมเทโลหะหล่อสิงห์ พระสงฆ์สมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำรับพร พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ แล้วกราบลาพระรัตนตรัย เป็นอันเสร็จพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประกอบพิธีหล่อสิงห์คู่แบบล้านนาในวันนี้ เกิดขึ้นจากที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อสนับสนุนการดำเนินการบริหารจัดการโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าน ภายใต้การบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ด้านอาชีพ และด้านการดำรงชีวิต ตลอดจนประชาชนทุกช่วงวัยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
“การหล่อสิงห์คู่ในครั้งนี้ มีขนาด สูง 1.6 เมตร กว้าง 1.1 เมตร จำนวน 2 ตัว ทำจากวัสดุโลหะทองเหลืองรมดำ หรือสัมฤทธิ์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา โดยจะก่อสร้างประดิษฐาน ณ บริเวณด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า ตามโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับวัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นวัดในพระนามาภิไธยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มก่อสร้างวัดและศาสนสถานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เนื่องด้วยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิศวิหาร ประทานที่ดินให้สร้างวัดในพระพุทธศาสนา จำนวน 63 ไร่ 2 งาน และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 พระองค์ได้เสด็จไปทรงเททองหล่อพระประธาน ทรงวางศิลาฤกษ์ หอฉัน และกุฏิ ญสส.แล้ว พร้อมทั้งทรงมอบหมายให้ พระเทพวราจารย์ (พระธรรมวราจารย์) สมณศักดิ์ในขณะนั้น วัดบวรนิเวศวิหาร ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ และปรับปรุงสถานที่เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งปี 2535 ดำเนินการสร้างถนนเต็มรูปแบบและอาคารสถานที่พร้อมที่จะรับพระภิกษุนักศึกษาเข้ามาศึกษาในระดับปริญญาตรี ปัจจุบันมีพระภิกษุนักศึกษาและคฤหัสถ์ เข้ามาศึกษา จำนวน 585 รูป
“ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการสร้างศูนย์เด็กเล็ก ตามแนวพระราชดำริ และทรงเสด็จพระดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน 2 หลัง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2535 และเสด็จพระดำเนินทรงเปิดศูนย์เด็กเล็ก และเปิดรับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีเด็กก่อนวัยเรียน 950 คน โดยในปี 2537 ได้รับพระราชทานพระนามาภิไธยเป็นนามวิทยาเขตว่า “วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” ศูนย์เด็กเล็กว่า “ศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” มูลนิธิว่า “มูลนิธิสิรินธรรราชวิทยาลัย” วัดว่า “วัดสิรินธรเทพรัตนาราม” และทรงรับทั้ง 4 องค์กร ไว้ในพระราชูปถัมภ์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย ทรงได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริมากมาย ทั้งยังเป็นพระราชูปถัมภกในด้านศิลปวัฒนธรรมของไทย และให้ความสำคัญด้านการศึกษาของเด็กเยาวชนไทย รวมถึงศาสนสถานสำคัญของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ ที่เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งที่ให้บริการทางด้านวิชาการแก่พระภิกษุสงฆ์และคฤหัสถ์ ทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท นอกจากนี้ยัง เป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ชุมชน เป็นชุมทางแห่งความรู้ทุกๆ ด้าน พระภิกษุสงฆ์เป็นวิทยาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโรงเรียนต่าง ๆ เป็นสถานที่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ที่ใหญ่ที่สุดในเขตปริมณฑล กรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน ที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เด็กและเยาวชนมีทักษะความรู้ รวมไปถึงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของประเทศไทยสืบไป