เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญลือ ดังใหม่ เจ้าของสวนอินทผลัมเงินล้าน “ไร่ดังใหม่” วัย 54 ปี ชาวบ้านจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ที่ได้ผลผลิตอินทผลัมจับเงินล้านเป็นประจำทุกปี ได้ทดลองปรับปรุงสายพันธุ์น้อยหน่า โดยการใช้น้อยหน่าพันธุ์พื้นบ้านมาผสมเกสรกับน้อยหน่าพันธุ์ดี จนได้เป็นน้อยหน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะเด่น ผลดก รูปทรงสวยงาม เนื้อและรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งด้วยความที่น้อยหน่าเป็นพืชที่มีความอดทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง สามารถปลูกได้แทบทุกสภาพพื้นที่ ซึ่งอาจจะกลายมาเป็นพืชทางเลือกใหม่แก่เกษตรกรที่สนใจ ล่าสุดเตรียมที่จะยื่นของจดสิทธิบัตรและตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ในเร็วๆ นี้

นายบุญลือ กล่าวว่า น้อยหน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ตัวเองได้ปรับปรุงขึ้นมานั้น เกิดจากการที่ตัวเองนำเอาเกสรจากน้อยหน่าหนังพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติเด่นคือ เนื้อเหนียวและหนา แต่ลูกทรงค่อนข้างบิดเบี้ยว ไม่ดก มาผสมกับน้อยหน่าสายพันธุ์ดี อย่างพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 ที่มีข้อเด่นคือ ลูกดกเนื้อนุ่ม จนออกมามีลักษณะเด่นของทั้ง 2 พันธุ์ คือ ลูกดก รูปทรงสวยงาม เนื้อเหนียวนุ่ม รสชาติดี จากนั้นก็นำมาขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด เพื่อไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ เพราะการเพาะด้วยเมล็ดนั้นจะมีความเสี่ยงในการกลายพันธุ์สูงมาก จากนั้นก็นำไปทดลองแยกปลูกในดินที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน จนมาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว พบว่าน้อยหน่าสายพันธุ์นี้ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ทนทานต่อความแห้งแล้ง และยังให้ผลผลิตรวมถึงรสชาติที่ดีไม่แตกต่างกัน อีกทั้งยังไม่พบปัญหาในเรื่องของโรคแมลงแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นพืชที่เพิ่งนำมาปลูกใหม่ในพื้นที่จุดนี้

โดยในเบื้องต้นน้อยหน่าพันธุ์นี้จะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีแรกที่ปลูก ตอนนี้เข้าปีที่ 2 แล้ว ตัวเองปลูกเอาไว้ริมสวนอินทผลัม ซึ่งอยู่ติดกับไร่ยูคาลิปตัส ประมาณ 100 ต้น ซึ่งที่บริเวณดังกล่าวก่อนหน้านี้ลองปลูกพืชชนิดอื่นแล้ว ก็ไม่เคยได้ผลผลิต แต่เมื่อนำน้อยหน่าพันธุ์นี้มาปลูก กลับได้ผลผลิตอย่างดีเกินคาด โดยปีนี้น้อยหน้าแต่ละต้นจะให้ผลผลิตต่อรอบมากกว่า 100 ลูก และจะออกผลผลิตได้มากถึง 3 รอบต่อปีเลยทีเดียว

ส่วนในด้านการตลาด ตอนนี้เริ่มนำผลผลิตที่ได้ออกจำหน่ายตามท้องตลาดใกล้บ้าน ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีอย่างมาก เมื่อลูกค้าได้ชิมก็ติดใจ สั่งซื้อซ้ำกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมถึงใช้ช่องทางออนไลน์มาช่วยในการขาย จึงทำให้ตอนนี้มีผลผลิตออกไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ในขณะที่ราคาขายก็กำหนดให้สูงกว่าท้องตลาดทั่วไปเล็กน้อย ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งขนาดของผลจะมีขนาดประมาณ 4-5 ผลต่อกิโลกรัม และหลังจากนี้ เตรียมที่จะเข้าขอจดสิทธิบัตรสายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกต่อในอนาคต อีกทั้งล่าสุดยังมีห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่เข้ามาออร์เดอร์ผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถผลิตสินค้าส่งให้ได้อย่างเพียงพอ