เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระ 2 เรียงตามรายมาตรา

โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายในมาตรา 4 ว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้แปรญัตติมาตรา 4 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในจำนวน 3.752 ล้านล้านบาท ที่ตนเสนอให้มีการปรับลดเป็นจำนวน 4 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ได้มีการอภิปราย 2 หัวข้อหลัก คือในเรื่องของรายได้และเรื่องของการปรับลดงบประมาณโดยตรง เนื่องจากเรามองว่างบประมาณปี 68 นั้น กำลังจะสร้างความเสี่ยงให้กับรัฐบาลชุดถัดไป รวมถึงสร้างความเสียหายให้กับลูกหลานในเรื่องของการคลัง ในการเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤติในอนาคต โดยมีการคาดการณ์ว่าหนี้ในปี 2570 จะพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 69 โดยเราอาจจะเรียกว่าการกู้ครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น แต่อาจทำให้เราสูญเสียโอกาสและสูญเสียการคลัง สำหรับการรองรับวิกฤติและปัญหาในอนาคต รวมถึงปัจจุบันประเทศไทยค่า GDP รายได้ก็ลดลง จากร้อยละ 16 เหลือเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น สวนทางกับประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกับไทย 3 ประเทศอย่าง เกาหลีใต้  ชิลี และอุรุกวัย ตั้งแต่ปี 2553-2562 จะสังเกตได้ว่าทั้งสามประเภทนี้ มีค่า GDP สูงขึ้น แต่ของประเทศไทยกลับตกลง

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า หากดูในโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยในอดีต ภาษีรายได้ของประชาชนกลับลดลง และรายได้ภาษีของประชาชนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นรายได้ภาษี ประเทศไทยจัดเก็บภาษี นอกจากจะเก็บภาษีจีดีพีได้น้อยแล้ว ยังเหมือนว่าไปจัดเก็บภาษีคนจนมากกว่าคนรวยด้วยซ้ำ ทำให้เห็นว่าการจัดเก็บพื้นที่ทางการคลัง ที่จะนำมาใช้สำหรับโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากรัฐขาดรายได้ที่มีประสิทธิภาพ ก็จะขาดงบในการนำมาพัฒนาโครงสร้างรากฐานสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษีรายได้ให้กับรัฐในอนาคต แต่ใช้วิธีการกู้เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น 

“ผมเป็นห่วงว่า เราจะทำให้เกิดวัฏจักรขาลง ไม่สามารถสร้างรายได้ในอนาคต และรัฐก็จะจัดเก็บรายได้น้อยลงไปอีก ตนจึงเสนอว่า ควรจะต้องมีการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษี และปฏิรูปงบประมาณ ทั้งรายได้และรายจ่ายไปพร้อมกัน ในส่วนของจัดเก็บรายได้ภาษี อยากให้มุ่งเป้าไปที่คนร้อยละ 1 อย่างเหมาะสม ในส่วนที่ดิน รวมแปลงมาทำให้เหมาะสม มาจัดทำสวัสดิการให้เหมาะสมกับประชาชนพัฒนาต้นทุนมนุษย์ สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสำหรับอนาคต สร้างรายได้ยาวให้กับประเทศ ให้เป็นวัฏจักรขาขึ้นให้กลับมา” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของรายจ่าย สิ่งที่เราอยากจะตั้งคำถามไปยังรัฐบาลชุดนี้รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ ที่รอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นอกจากเรื่องของจัดเก็บภาษีแล้ว ยังมีในเรื่องของการลดรายจ่ายประจำด้วยเช่นเดียวกัน ว่าจะทำอย่างไร ให้มั่นใจได้ว่ากู้มาแล้ว ไม่ได้กู้มาเพื่อแจกอย่างเดียว แต่เป็นการกู้เพื่อพัฒนาศักยภาพต้นทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต โดยจากที่กล่าวมาทั้งหมด ตนขอไม่เห็นด้วยกับการร่างงบประมาณ ปี 68 ในครั้งนี้ และขอปรับงบประมาณรายจ่ายที่กู้ชนเพดาน และไม่สร้างอนาคตให้กับประเทศ ตามที่ตนได้แปรญัตติไว้.