นํ้าที่เราเห็นหลากมาอย่างรวดเร็ว และท่วมสูงในหลายพื้นที่ มีสีออกแดง ๆ แปลว่าเป็นนํ้าที่กัดเซาะหน้าดิน เนื่องจากเราตัดไม้ทำลายป่าไปเป็นจำนวนมาก ตอนผมทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นนํ้าในป่าเขตร้อนภาคเหนือ ใช้เวลาค่อย ๆ เพิ่มพื้นที่ป่าอย่างช้า ๆ กว่าสิบปี ระบบนิเวศแค่ดีขึ้น แต่ยังไม่กลับมาสมบูรณ์ ในแต่ละปีเราจะสังเกตสีนํ้าที่ไหลมาจากภูเขาสู่ลุ่มนํ้า ช่วงที่ป่าเริ่มสมบูรณ์ขึ้น นํ้าจะใสขึ้น มีสีแดงน้อยลง หลายคนจึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้นเหตุหลักมาจากการตัดไม้ทำลายป่า เดิมเราเคยมีพื้นที่ป่าอยู่ราว 60% แค่ช่วงชีวิตของผม ป่าลดลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น
ผมสงสัยว่า เหตุใดปัญหานํ้าน้อย นํ้ามาก จึงเกิดซ้ำซาก จัดการไม่ได้เสียที จึงเชิญกูรูเรื่องภาวะโลกร้อน การจัดการนํ้า และความยั่งยืน มาตั้งวงเสวนาคุยกัน และได้ความคิดที่หลากหลาย พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
1.ภาวะโลกร้อนทำให้การจัดการนํ้ายากขึ้น เมื่อนํ้าแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว นํ้าในทะเลมีปริมาณมากขึ้น มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ปริมาณฝนทั่วโลกมีมากขึ้นกว่า 10% และอาจจะกระจุกอยู่ในบางพื้นที่ บางเวลา ทำให้เกิดอุบัติภัย นํ้าหลาก นํ้าท่วม ดินถล่ม ในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิด และไม่ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า
2.การตัดไม้ทำลายป่า ป่าหายไป กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และเป็นย่านพักอาศัย จึงไม่มีรากไม้ใหญ่คอยซับนํ้า ไม่มีพื้นที่ป่าชะลอนํ้า ขาดพื้นที่ชุ่มนํ้าที่จะกักเก็บนํ้าขาดพืชคลุมดินที่คอยยึดหน้าดินไม่ให้ไหลไปตามนํ้า พอฝนตกหนัก นํ้าก็หลากมาด้วยความเร็วสูง กัดเซาะหน้าดินมาด้วยจนนํ้าเป็นสีแดงเข้ม
3.การขยายของเมืองโดยไม่มีผังเมืองที่ดี ชุมชนบางแห่งสร้างในทีลุ่มที่เคยเป็นพื้นที่ซับนํ้า ถนนบางเส้นขวางทางนํ้า เราไม่เคยใส่ใจการออกแบบผังเมืองในเชิงสิ่งแวดล้อม และสังคม ที่หลายคนเรียกว่า “ภูมินิเวศ” เราให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และราคาที่ดินเพื่อพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
4.เราไม่มีการบูรณาการด้านการจัดการนํ้าอย่างมีส่วนร่วมที่แท้จริง ถึงแม้เราจะมีสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ ที่จัดตั้งด้วยแนวความคิดในการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน แต่ SDG 17 Partnership for the Goals ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งยังไม่สามารถสลายการทำงานแบบไซโลในระบบราชการไทยได้
5.ขาดการวางแผนการลงทุนในระบบการจัดการนํ้าที่ยั่งยืน นํ้าฝนที่ตกมา 100 หยด เราเก็บไว้ใช้ได้เพียง 6 หยดเท่านั้น ที่เหลือเราเร่งปล่อยลงทะเลไปโดยเสียเปล่า พอหมดหน้าฝน หมดนํ้าท่วม ไม่นานก็ถึงฤดูนํ้าแล้ง เราก็จะมาทะเลาะแย่งนํ้ากันอีก วนไป
แล้วเราควรจะทำอย่างไร … เหล่ากูรูเสนอแนะไว้ดังนี้
1.ออกแบบผังระบบภูมินิเวศใหม่ทั้งระบบ เรามีข้อมูลเพียงพอแล้วว่าพื้นที่ใดนํ้าแล้ง นํ้าท่วม ซ้ำซาก ถึงเวลาที่ต้องรื้อผังพื้นที่ลุ่มนํ้าใหม่ จัดการระบบฝาย บ่อนํ้า อ่างเก็บนํ้า พื้นที่แก้มลิง พื้นที่ซับนํ้า เขื่อน ระบบคูคลอง แม่นํ้า ทางส่งนํ้า ระบายนํ้า ให้สอดคล้องกับพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ เหล่ากูรูบอกว่าเริ่มต้นที่ผังเมืองยั่งยืน สำคัญที่สุด โดยมีตัวอย่างเช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเมืองใหม่ต่าง ๆ ของประเทศจีน ก็เริ่มจากการวางผังเมือง และระบบจัดการนํ้าที่ยั่งยืนเป็นสิ่งแรก เราน่าจะต้องมี “องค์กรฟื้นฟูป่า และภูมินิเวศแห่งอนาคต” ที่จะบูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่าง ๆ ให้ไปทางเดียวกัน
2.ฟื้นฟูการปลูกป่าอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ อย่าปลูกมั่ว ต้องร่วมมือกันปลูกตามแผนผังที่ออกแบบไว้อย่างยั่งยืน ใช้พรรณพืชท้องถิ่นที่เหมาะสม อย่าใช้พืชผิดประเภท ป่าบางแห่งเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชนผสมผสาน ป่าทางเศรษฐกิจ ป่าซับนํ้า ป่าในเมือง และพื้นที่สีเขียวเพื่อสันทนาการ ต้องรวมพลังผู้มีความรู้ ภูมิสถาปนิก สถาปนิกผังเมือง นักวนศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนมารวมทีมกัน พื้นที่ป่าที่ออกแบบได้ดี จะส่งเสริม Soft Power และการท่องเที่ยวยั่งยืนได้อีกด้วย
3.สามารถพัฒนาโครงการปลูกป่าเป็นโครงการชดเชยคาร์บอนที่มีมาตรฐานโลก ที่บริษัทใหญ่ ๆ สามารถซื้อคาร์บอนจากโครงการปลูกป่าในประเทศไทยเหล่านี้ โดยไม่ต้องนำเงินไปจ่ายชดเชยปลูกป่าในต่างประเทศได้ และธนาคารต่าง ๆ จะมีทุนพวก Green Finance สนับสนุนได้อีก และสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจภาวะโลกเดือด ก็สามารถซื้อคาร์บอนจากการปลูกป่าเหล่านี้ เพื่อให้ตัวเองเป็น Net Zero Citizen ได้ด้วย ที่เราเคยบริจาคให้วัดและองค์กรการกุศล ก็จะมาช่วยโครงการปลูกป่าแทน และถ้ารัฐบาลสร้างมาตรการและกลไกลดหย่อนภาษีแบบพิเศษ ก็จะทำให้ความฝันนี้เป็นจริงได้อย่างรวดเร็ว และถ้าท่าน
นายกฯ และเหล่ารัฐมนตรีจะทำเป็นตัวอย่างนำร่องจะเยี่ยมยอดมาก
4.ให้เอกชน และชุมชนมีบทบาทมากขึ้นในการบูรณาการการจัดการนํ้า และการฟื้นฟูป่า ต้องปรับโครงสร้างการบริหารของสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ และองค์กรฟื้นฟูป่าแห่งชาติ ที่อาจจะตั้งขึ้นใหม่ ควรให้เอกชนมามีบทบาทร่วมงานได้มากขึ้น ถ้าบริหารงานแบบเอกชน ประสิทธิภาพจะสูงขึ้น และทันสถานการณ์
5.อย่าลืมตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย มีการลงทุนที่มากพอ มีการจัดการให้เกิดขึ้นจริง ตอนนี้เราเก็บนํ้าจากฟ้าได้แค่ 6 หยด จะเพิ่มเป็น 10 หยด 30 หยด จนถึง 50 หยด ได้เมื่อไร อย่างไร เรื่องนี้เราเรียนรู้จากสิงคโปร์ได้
ก่อนกลับเหล่ากูรูยังเกทับกันด้วยว่า พอมวลนํ้าใหญ่มาถึงกรุงเทพฯ ปีนี้ กทม. จะรอดหรือไม่ … อีกไม่นานคงจะรู้.