เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 3 ก.ย. ที่ ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่คณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ว่า ขณะนี่ทางกฤษฎีกาได้มีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีการตั้งประเด็นคำถาม เกี่ยวกับลักษณะผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ของพนักงานอัยการ ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอยู่ระหว่างการเตรียมคำฟ้อง จะมีการวินิจฉัยอย่างไร และขัดหรือไม่ขัด ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการ ให้ความเห็นตามประเด็นที่ถามมาประมาณ 10 กว่าประเด็น ในภาพรวม แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบเป็นรายบุคคล เนื่องจากตนไม่ได้เห็นรายชื่อเป็นรายบุคคล และไม่ทราบว่ามีทั้งหมดกี่ราย

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาดูเพียงประเด็นที่สอบถามมาเท่านั้น ไม่ได้ลงไปในรายละเอียด เนื่องจากหากจะลงรายละเอียดจะต้องดูข้อเท็จจริงเยอะ ทั้งนี้ กรณีที่มีการร้องเรียนไปยังคณะ ป.ป.ช. แล้ว และอยู่ระหว่างการไต่สวน ยังไม่ได้มีการชี้มูล เราก็ไปตัดสินว่าเขาผิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ขนาดนั้น ถือเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการถูกกล่าวหา จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ว่ามีการกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำกลับไปว่า จะต้องมีการดูรายละเอียดเป็นกรณีไป

เมื่อถามว่าหากตรวจสอบเป็นประเด็น แต่ไม่ได้ตรวจสอบรายบุคคล จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่เพียงให้ความเห็นประกอบการดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ส่วนอำนาจในการตัดสินวินิจฉัยเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การถูกร้องไปที่ ป.ป.ช. แล้ว จะเหมารวมว่ามีมลทินก็ไม่แฟร์กับผู้ที่ถูกร้อง เพราะบางเรื่อง ป.ป.ช. ก็ไม่ได้มีการชี้มูล จึงต้องดูรายละเอียดเป็นกรณีไป ซึ่งกระบวนการร้องเรียนในประเทศไทยทำได้ง่าย ร้องเรียนได้ตลอดเวลา ไม่ต้องห่วงจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลจึงจะเป็นข้อยุติ

เมื่อถามย้ำว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนกรณีของนายพิชิต ชื่นบาน ใช่หรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกา เป็นเรื่องของศาล

“การบริหารราชการแผ่นดิน ยึดความซื่อสัตย์สุจริตในส่วนของเรา คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราสุจริตจริงก็ไม่มีปัญหา” เลขาฯ กฤษฎีกา กล่าว.