จากกรณี “เดลินิวส์” ได้เสนอข่าวปัญหาการถือครองที่ดินของรัฐ และการประกอบธุรกิจวิลล่าหรูให้เช่าของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มาอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การตรวจสอบของ กอ.รมน.ภาค 4 และพบปัญหาความรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยมีการประเดิมกล่าวโทษเอาผิดการก่อสร้างวิลล่าหรู จำนวน 53 หลัง บนเขาเฉวงน้อย พื้นที่หมู่ที่ 3 ต.บ่อผุด ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปทส. ขณะที่เทศบาลใช้คำสั่งปกครองทุบ 2 อาคารนำร่อง ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร รองแม่ทัพภาคที่ 4/รอง ผอ.รมน.ภาค 4 เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ลาดชันสูงและการประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าวบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ในวันที่ 3 กันยายน กอ.รมน.ภาค 4 จะเข้าร่วมประชุมกับสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะกรณีปัญหาการถือครองหรือครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์โดยตัวแทนอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ก่อนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะออกคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระเบียบว่าด้วยสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการทำธุรกรรมแทนคนต่างด้าว พ.ศ……

พล.ต.อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า การปฏิบัติการ “พิทักษ์สมุย หรือสมุยโมเดล” ซึ่งดำเนินการโดย กอ.รมน.ภาค 4 ได้ดำเนินการตรวจสอบการถือครองที่ดินของคนต่างด้าวหรือนอมินี มาตั้งแต่ปี 2560 ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เนื่องจากมีประชนร้องเรียนปัญหาการก่อสร้างหรือสิ่งก่อสร้าง การฟอกเงิน การอนุญาตให้ก่อสร้างบนพื้นที่ภูเขาสูง การตรวจสอบการถือหุ้น (นอมินี) ซึ่งกอ.รมน.ภาค 4 ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทำงานจนประสบความสำเร็จ ภายใต้ สมุยโมเดล ซึ่งสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาร่วมทำงานแก้ไขปัญหาและแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้กฏหมาย

ประเด็นสำคัญพบว่าสาเหตุที่คนต่างด้าวอยากทำธุรกิจที่พักในประเทศไทยเนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม แต่พบข้อจำกัดของกฎหมายจึงเข้าปรึกษากับกลุ่มที่ปรึกษาทางธุรกิจและกฎหมาย โดยที่ปรึกษาดังกล่าวได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน และช่องทางการติดต่อกับเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ทำให้เกิดขบวนการจัดหาที่ดินในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น การจ่ายเงินให้กับทายาทเจ้าของที่ดินคนไทย การจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้อำนวยประโยชน์ในทุกกระบวนการ

ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 เห็นว่า ต้องแก้กฎหมายและจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลงทุนโดยมีงบประมาณในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยประเด็นสำคัญในการแก้ไขกฏหมายนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ขอให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองหรือครอบครองที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์โดยตัวแทนอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) เช่น การแก้ไขคำนิยาม “คนต่างด้าว” ให้ครอบคลุมถึงการที่คนต่างด้าวมีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการของนิติบุคคคลที่คนต่างด้าวตั้งขึ้นมาโดยใช้คนไทยเป็นผู้อำพรางการทำธุรกรรม เป็นต้น

พล.ต.อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการดำเนินทางกฎหมายเอาผิดเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารบนที่ลาดชันสูงนั้น ในวันที่ 3 กันยายน คณะพนักงานสืบสวน กอ.รมน.ภาค 4 จะเข้ากล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนิติบุคคล ตามความผิด พรบ.ก่อสร้าง จำนวน 18 คดี ที่กองบังคับการ ปทส. และร่วมหารือกับผู้บังคับการ ปทส. เกี่ยวกับพยานหลักฐานทางคดีต่อไป