เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่อาคารเชียงแสน ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS จังหวัดเชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานการแข่งขันทักษะวิชาการ และมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “Smart & Good Happiness : นครเชียงราย นครแห่งการศึกษา” โดยมี นายประสบโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนผู้เข้าแข่งขันจากทั่วประเทศกว่า 20,000 คน ร่วมในงาน รวมถึง 3 นักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย นำโดย “จุน” อมรเทพ คนหาญ กัปตันทีมชายไทย, “แนน” ทัดดาว นึกแจ้ง บอลเร็วทีมสาวไทย และ “ชมพู่” พรพรรณ เกิดปราชญ์ มือเซตตัวเก่งทีมสาวไทย ร่วมในงานด้วยในพิธีเปิดงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รับชมการแสดงขับร้องเพลงประสานเสียงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บทเพลง The Light of Love ซึ่งเป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมชมขบวน “นบไหว้สาสักการะปู่จาผญามังราย” และการแสดงชุด “นครเชียงราย นครแห่งการศึกษา” และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ เทศบาลนครเชียงราย, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เข้าร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการ และหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานแข่งขันทักษะวิชาการและงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ อาทิ เทศบาลนครเชียงราย และเทศบาลนครภูเก็ต นำเสนอด้วยแนวคิด เมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO เทศบาลเมืองกาญจนบุรี นำเสนอผลงานด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงานหัตถกรรม เทศบาลนครตรัง นำเสนอผลงานด้านคหกรรม พร้อมสาธิต Fruit Shake น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดการแข่งขันทักษะวิชาการ และมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “Smart & Good Happiness : นครเชียงราย นครแห่งการศึกษา” ในวันนี้เป็นการขับเคลื่อนบทบาทภารกิจที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ในการพัฒนาและให้การศึกษากับผู้คนทุกช่วงวัย รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มาแลกเปลี่ยนและพัฒนาแนวทางของการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยในวันนี้นับเป็นโอกาสที่ดีที่เทศบาลนครเชียงราย จังหวัดเชียงราย ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวดแข่งขันขึ้น ซึ่งมีการดำเนินงานภายใต้แนวคิด Smart & Good Happiness โดยความหมายของคำว่า “Smart” หมายความว่า การพัฒนาทักษะพัฒนาความรู้และพัฒนาประสบการณ์ ของนักเรียนและครูผู้ฝึกสอนให้เกิด ความเก่งและเชี่ยวชาญในด้านทักษะวิชาการ “Good” หมายความว่า การส่งเสริมเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านจิตใจและด้านสุขภาพพลานามัย ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ได้สนับสนุนในด้านการออกกำลังกาย ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ การดูแลตั้งแต่ระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในการสร้างสนามเด็กเล่น ให้เด็ก ๆ ได้มีความรักในการออกกำลังกาย เช่น การเล่นกีฬาจักรยานขาไถ หรือ การออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ “กลางน้ำ” คือ การสร้างโอกาสให้ผู้คนทุกช่วงวัยได้มารวมตัวกันพูดคุยแลกเปลี่ยนสร้างมิตรภาพระหว่างการออกกำลังกาย และ “ปลายน้ำ” คือ เมื่อร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงก็จะส่งผลทำให้กระบวนการพัฒนาทางด้านจิตใจเกิดความสมบูรณ์ในทุกช่วงวัยตามไปด้วย และสุดท้าย “Happiness” คือ การสร้างให้คนในสังคมมีความสุข ด้วยการช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ให้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตของคนไทย ที่ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

“สำหรับสิ่งที่เป็นการ “แก้ไขในสิ่งผิด” นั้น การศึกษาก็เป็นอีกประการหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถแก้ไขและเรียนรู้ในสิ่งที่เคยผิดพลาดไปให้กลับมาเป็นบทเรียน เพื่อพัฒนาตนเองและต่อยอดให้ดีขึ้นได้ โดยถ้าหากมองย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา การศึกษาของประเทศไทยยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ฉะนั้นเรื่องแรก ที่การศึกษาไทยจะต้องได้รับการพัฒนา จะต้องทำให้ทุกโรงเรียนสามารถเป็นการสนับสนุนให้คนมีทั้งความ Smart Good และ Happiness มีคุณภาพทัดเทียมกับการจัดการศึกษากับอารยประเทศได้ ต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ และต้องไม่พัฒนาแบบถอยหลัง ซึ่งจากการที่ได้ติดตามการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตนเชื่อมั่นว่า ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ก็มีศักยภาพที่เพียงพอจะสามารถพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวขึ้นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ ดังเช่นตัวอย่างของโรงเรียนเทศบาลตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนับสนุนโอกาสและพัฒนาทักษะของนักเรียน ทางด้านวิชาการ ด้านกีฬา และด้านภาษา จนเด็กนักเรียนสามารถได้รับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เทศบาลนครเชียงราย เป็นต้นแบบที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพ และสามารถให้การศึกษาแก่ผู้คนตลอดทุกช่วงวัยได้อย่างแท้จริง โดยเราจะเห็นการสนับสนุนการก่อตั้งมหาวิทยาลัย 3 วัย ที่ได้เปิดพื้นที่ให้กับผู้สูงอายุได้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาทักษะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เกิดเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้ และได้กลายเป็นต้นแบบให้หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศและทั่วโลก รวมทั้งได้เป็นต้นแบบในการสนองพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงตั้งพระทัยที่จะทำให้คนไทยได้สนับสนุนให้ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาและความรู้ให้กับเด็กเล็ก เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด และถ่ายทอดความรู้จากผู้มีประสบการณ์ให้กับลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งประเพณีวัฒนธรรม การปลูกผัก ปลูกต้นไม้ งานช่าง งานฝีมือ และการบริหารจัดการชีวิต ซึ่งเทศบาลนครเชียงราย ได้ดำเนินการมาโดยตลอดและดำเนินการมาเป็นอย่างดี

“ในวันนี้ตนมั่นใจว่าเทศบาลนครเชียงรายมีศักยภาพที่เต็มเปี่ยม และสามารถจัดการแข่งขันทักษะวิชาการ เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมงานได้เกิด passion ในการเรียนรู้ อันจะส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้เกิดแนวทางในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งจะสามารถช่วยกัน “สร้างแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนาเด็กไทย และพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้ มีความสุข และมีคุณภาพ ท้ายนี้ ต้องขอเป็นกำลังใจให้กับทางผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะครู และนักเรียนทุกแห่งได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนทิศทางการศึกษาของไทย เป็นความหวังที่จะขับเคลื่อนให้การศึกษาไทยมีความมั่นคงทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ซึ่งถึงแม้ว่าในวันนี้จะเป็นการแข่งขันทักษะวิชาการ แต่ขอให้ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ ใช้โอกาสที่ได้มาพบเจอกันในวันนี้แลกเปลี่ยนทักษะ แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ดี และขอให้มองว่า “รางวัลจากการแข่งขันเป็นเพียงผลพลอยได้จากความพยายามและความตั้งใจของผู้ฝึกซ้อมและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม” นอกจากนี้ ยังต้องขอให้ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลาง และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสร้างโอกาสให้กับลูกหลาน และผู้สูงอายุ ผ่านอุดมการณ์ที่เราได้ยึดมั่นในการสร้างชีวิตของเราให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ร่วมกัน Change for Good เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด และแก้ไขในสิ่งผิด ช่วยกันทำให้ “การศึกษา สร้างคน สร้างโอกาส สร้างเศรษฐกิจ และสร้างเมืองที่น่าอยู่ให้กับเราทุกคน” อันจะส่งผลให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในวันนี้ จังหวัดเชียงราย โดยเทศบาลนครเชียงรายได้รับเกียรติจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทักษะวิชาการและงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด Smart & Good Happiness เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและครูในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีโอกาสแสดงความรู้ ความสามารถทางวิชาการที่สร้างสรรค์ ด้วยการเข้าร่วมการแข่งขันทักษะวิชาการ ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งการศึกษาระดับปฐมวัย, ขั้นพื้นฐาน, อาชีวศึกษา และภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับทราบถึงศักยภาพ และขีดความสามารถในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อจัดประชุมทางวิชาการ ระดมสมอง กำหนดทิศทางการจัดการศึกษาท้องถิ่น ทั้งการศึกษาระดับปฐมวัย, ขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา เพื่อกระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาศักยภาพ ในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการจัดการศึกษาระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน

นายวันชัย จงสุทธามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า การแข่งขันทักษะวิชาการ และงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2567 รวมทั้งสิ้น 4 วัน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นตัวแทนระดับภาค จำนวน 242 แห่ง ทั้งจากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดจัดกิจกรรมการแข่งขันทักษะวิชาการ ระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา รวมรายการแข่งขัน 142 รายการ มีโรงเรียนเข้าร่วม จำนวน 543 แห่ง สนามแข่งขันจำนวน 10 แห่ง กิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ จำนวน 2 วัน กิจกรรมแสดงนิทรรศการทางวิชาการจากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละภาค และพิธีมอบโล่รางวัลสำหรับผู้ดูแลเด็กดีเด่น ประจำปี 2567