เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่​สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ นายโยธิน เปาอินทร์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมด้วยกลุ่มตัวแทน เดินทางเข้ายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าการยื่นเรื่องร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 65 วรรคสอง ที่กำหนดว่าข้อห้ามดำเนินการต่างๆ ก่อนยื่นลาออกหรือครบวาระ 90 วัน สืบเนื่องจากนายสุรเชษ นิ่มกุล หรือ นายกตี๋ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อ่างทอง ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2567 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งนายก อบจ.อ่างทอง ได้ยื่นให้ กกต.ประจำจังหวัดอ่างทอง ไปดำเนินการตรวจสอบว่าการดำเนินการใดๆ ก่อนยื่นลาออกจากตำแหน่ง 90 วัน อาจเป็นการขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ แต่ผ่านมาแล้วยังไม่มีความคืบหน้า จึงมาร้อง กกต.กลางให้ดำเนินการตรวจสอบ และยื่นให้ตรวจสอบเพิ่มเติม ใน 4 ประเด็นโดยเฉพาะการอนุมัติโครงการหรือกิจกรรม เข้าข่ายเป็นกิจกรรมหรือโครงการใหม่ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ รวมถึงได้ยื่นหลักฐานที่เคยร้องต่อกกต.อ่างทอง นำมายื่นให้ กกต.กลางตรวจสอบด้วย

นายโยธิน กล่าวว่า ตนยื่นเรื่องในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยกังวลการตีความข้อกฎหมายท้องถิ่น เนื่องจากตัวนายก อบจ.อ่างทองเป็นนักการเมืองเก่าและมีความคุ้นเคย รู้จักมักคุ้นกับข้าราชการส่วนใหญ่ จึงเกิดความกังวลการตีความกฎหมายท้องถิ่นมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสองจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ได้ยื่นหลักฐานให้มีการตรวจสอบพฤติการณ์ของ นายก อบจ. คนดังกล่าวโดยรวบรวมมาจากโซเชียลมีเดียส่วนตัว ที่เจ้าตัวเป็นคนโพสต์ภาพและข้อความเองว่าได้ดำเนินการอะไรบ้าง ประเด็นที่ค่อนข้างมีความชัดเจนคือมีการจัดเลี้ยงวันเกิดในช่วง 90 วันก่อนลาออกจากตำแหน่ง มีการแจกของชำร่วย ปรากฏภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ รวมถึงมีการแจกของช่วยเหลือสมาคม มูลนิธิ โรงพยาบาล ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 65 (1)(2) และ (4) ขณะนี้มีกระแสข่าวว่า มีการตกลงกันแล้วว่าจะยกคำร้อง ทำให้ตนรู้สึกกังวล จึงมาขอให้ กกต.เร่งดำเนินการตรวจสอบ พร้อมกันนี้ก็ได้ยื่นหนังสือข้อกังวลใจของกลุ่มตนในฐานะผู้ร้อง เนื่องจากผู้ถูกร้องเป็นนายก อบจ. มาหลายสมัย ก็มีความสัมพันธ์กับข้าราชการในพื้นที่ เกรงว่าการพิจารณาแต่ละขั้นตอน อาจจะทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายผิดเพี้ยนไป    

นายโยธิน กล่าวว่า ยืนยันว่า การมาร้องเรียนครั้งนี้ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง เพราะหลักฐานทั้งหมด ปรากฏตามโซเชียลฯ ที่เจ้าตัวโพสต์เอง และอบจ.โพสต์ อยู่แล้ว พร้อมกันนี้ได้ฝากไปยัง กกต.ในการดำเนินการตรวจสอบว่าการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นครั้งที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งกฎหมายท้องถิ่นปี 2562 เป็นการบังคับใช้ครั้งแรก และครั้งนี้หากตัดสินออกมาอย่างไรก็จะเป็นบรรทัดฐาน หากตัดสินว่า 90 วันก่อนลาออกสามารถดำเนินการได้ทุกอย่าง ตนว่ากฎหมายข้อนี้ก็ไม่รู้จะเขียนมาทำไม เพราะจะไปอ้างอิงกับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับเดิม ที่กำหนดข้อห้าม 5 ข้อ แต่ไม่มีในเรื่อง 90 วัน ส่วนตัวเห็นว่าการเพิ่มข้อห้ามดังกล่าว มีความหมาย อย่างไรก็ตามหากตัดสินว่าสามารถทำได้ ก็เกรงว่าจะกลายเป็นโมเดลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อื่นๆ ดำเนินการตาม.