จากการที่มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร จัดกิจกรรม “ผนึกพลังพันธมิตร ธารน้ำใจสู้ภัยน้ำท่วม” นำถุงยังชีพกว่า 1,700 ชุด ขึ้นไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย, แพร่ และน่าน ระหว่างวันศุกร์ที่ 30 ส.ค.-วันจันทร์ที่ 2 ก.ย. 2567 โดยมีนายนพปฎล รัตนพันธ์ รองบรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์, นายเกรียงไกร บัวศรี ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารฯ, นายวรพล เพชรสุทธิ์ หัวหน้าข่าวภูมิภาคฯ เป็นผู้นำคณะแจกถุงยังชีพไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

วันที่สาม! ‘เดลินิวส์’ จับมือพันธมิตร ลุยแจกถุงยังชีพซับน้ำตา ‘ชาวน่าน’ สู้ภัยน้ำท่วม

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ภารกิจแจกถุงยังชีพของคาราวานของมูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร เข้าสู่วันที่สี่ ขบวนคาราวานได้ออกเดินทางจากจังหวัดน่านมายัง จ.นครสวรรค์และจ.ชัยนาท เพื่อมาสำรวจสภาพแม่น้ำเจ้าพระยา โดยลงพื้นที่ พาสาน ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ และเป็นจุดรวมแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ปิง-วัง-ยม-น่าน ไหลมาบรรจบกันที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นต้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

โดยผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ระบุว่าสถานการณ์ล่าสุดพบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ ทั้งนี้คาดว่าน้ำจะท่วมในบางพื้นที่ แต่ไม่หนักเท่าปี 2554 ซึ่งต้องดูปริมาณฝนเป็นหลัก

นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ พบว่า ระดับน้ำที่เก็บกัก 70 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งบึงบอระเพ็ดสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ 234.77 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ยังมีพื้นที่รองรับน้ำจากทางเหนือ ส่วนในเรื่องบริหารจัดการน้ำในบึงบอระเพ็ด มีหน่วยงานที่ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยการเปิด ปิด หรือเอาน้ำเข้า ทางเรามีการประชุม เพื่อให้เกษตรกร หรือประชาชนได้รับทราบ

ขณะนี้น้ำที่ไหลมาจากสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร รวมทั้งแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน จะเข้ามาที่นครสวรรค์ ที่จุดวัดน้ำ N67 ที่อยู่ในพื้นที่ชุมแสง ซึ่งเป็นพื้นที่รวมน้ำ 2 ลำน้ำคือ ยมกับน่าน โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ ตั้งแต่ก่อนเดือนสิงหาคม มีการพร่องน้ำ ประสานงาน ระหว่างเขื่อนเจ้าพระยา รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย โดยเราต้องมองทั้งน้ำด้านบน น้ำด้านข้างน้ำทุ่ง น้ำท่า เราต้องมองให้ครบ พร้อมกันนี้บึงบอระเพ็ด คือสถานที่เก็บกักน้ำ ทั้งน้ำทุ่งน้ำท่า ตอนนี้น้ำที่เข้ามาในบึงบอระเพ็ดเข้ามาประมาณ 30% ซึ่งสามารถรับปริมาณได้อีก

ในส่วนของเขื่อนเจ้าพระยาต้องมีความสอดคล้องกับการระบายน้ำของ C2 ณ วันนี้ น้ำที่ไหลผ่าน C2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 1,551 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายอยู่ที่ 1,399 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีความห่วงใยบริเวณท้ายเขื่อนคือ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย กรมชลประทานไม่ทิ้งเกษตรกร ไม่ทิ้งประชาชน ซึ่งด้านกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่าวันที่ 2-8 กันยายน มีหย่อมความกดอากาศต่ำ ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากบางพื้นที่อาจมีฝนตกหนัก รวมถึงน้ำหลาก เช่น ติดภูเขา เชิงเขา ต้องระมัดระวังต่อไป

ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ขอความร่วมมือให้รีบเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จ พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนยกของขึ้นที่สูง ซึ่งตอนนี้ยังคงสั่งเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมา และระดับแม่น้ำปิง ยังปกติ จุดที่เฝ้าระวังคือแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน เพราะเป็นจุดที่ต้องรับน้ำมาจากพิษณุโลก พิจิตร ในส่วนของ จ.นครสวรรค์ มีความเตรียมพร้อมเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามถ้ามวลน้ำเหนือไหลมาบรรจบ ทางกรมชลประทานสามารถที่จะบริหารจัดการและรับมือได้ต่อไป อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามสถานการณ์ เตรียมความพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ทางด้านท้ายเขื่อนเพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาสมทบ ทางศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า วันนี้เวลา 09.00 น.ที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,555 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกหนักในพื้นที่ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งกระทบต่อพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,399 ลบ.ม./วินาที เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.46 เมตร/รทก. ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 12.46 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 4.24 เมตร ทางเขื่อนเจ้าพระยาต้องเร่งระบายน้ำทางตอนบนลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 50 ซม. ถึง 1.50 เมตร อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ กรมชลประทาน ก็ยังขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ในพื้นที่ 11 จังหวัดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานคร ยังคงต้องเฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด