นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “กุ้งก้ามกราม” ถือเป็นสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและมีความต้องการทางตลาดสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรมประมงจึงได้มีการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในปี 2566 ประเทศไทยมีปริมาณผลผลิตกุ้งก้ามกรามทั้งหมด 46,585 ตัน จากฟาร์มเพาะเลี้ยง 12,127 ฟาร์ม คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,659 ล้านบาท และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งก้ามกรามจำนวน 4,711 ตัน มูลค่าการส่งออกกว่า 568 ล้านบาท ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ อาทิ เมียนมา สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ฯลฯ รวมถึง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งตลาดหลักที่มีมูลค่าการส่งออกสูง และยังคงมีแนวโน้มความต้องการสินค้ากุ้งก้ามกรามจากไทยเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

กรมประมงได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิต โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการผลิตกุ้งก้ามกรามให้ได้ 55,000 ตัน เพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และผลักดันให้มีการส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิตเพื่อการบริโภคไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเปิดตลาดสินค้าประมงชนิดใหม่ เนื่องจากกุ้งก้ามกรามได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมาก กรมประมงจึงได้เร่งรัดประสานดำเนินการมาโดยตลอด จนล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of People’s Republic of China: GACC) ได้อนุมัติให้เพิ่มรายชื่อสัตว์น้ำประเภทกุ้งก้ามกรามมีชีวิตในบัญชีรายชื่อสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้า และยอมรับรายชื่อฟาร์มจำนวน 28 ราย และ สถานบรรจุสัตว์น้ำ 7 ราย ให้ส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิตไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเกษตรกรจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี และมีสถานบรรจุสัตว์น้ำที่ผ่านการตรวจสอบสุขลักษณะตามข้อกำหนดของกรมประมง รวมถึงมีรูปแบบและวิธีการในการขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตตามระเบียบการนำเข้าของสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งในด้านข้อกำหนดการตรวจรับรองสถานประกอบการ มาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าทางกายภาพ เคมี จุลินทรีย์ และข้อกำหนดการออกใบรับรอง (Health Certificate) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าสินค้าประมงของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย รวมถึงสามารถคงความสดใหม่ได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

สำหรับการส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิตไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายช่องทางการตลาดของสินค้าประมงไทยชนิดใหม่ในจีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยกรมประมงจะยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพการผลิตกุ้งก้ามกรามของไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงยกระดับมาตรฐานสินค้าประมงของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน