เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่อดีต สว. ตั้งข้อสังเกตว่าว่าที่รัฐมนตรี 11 คน อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เนื่องจากคดีติดอยู่ในองค์กรอิสระ ว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะจากประสบการณ์ที่เห็น ตั้งพลาดเพียงคนเดียว อาจหมายถึงผู้ที่แต่งตั้งจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งตนเห็นว่าตรงนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างมากๆ เพราะองค์กรอิสระมีอำนาจกว้างขวาง และอำนาจล้นเกินฝ่ายบริหาร สามารถปลดผู้นำสูงสุดของรัฐบาลได้ รวมถึงยังล้นเกินมาถึงฝ่ายนิติบัญญัติสามารถยุบพรรคการเมืองได้ ตนเห็นว่าดังนั้น ทางแก้คือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้จำกัดขอบเขตขององค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้มีอำนาจล้นเกิน และยึดหลักการคานอำนาจระหว่างกัน การคานและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าบทบัญญัติในขณะนี้ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ใช่หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะความจริงแล้วเรื่องจริยธรรมเป็นการตรวจสอบบุคคลในสาขาอาชีพของตัวเอง ซึ่งโทษจะเป็นไปอย่างเหมาะสม แต่โทษผิดจริยธรรมร้ายแรงที่ถึงขั้นตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตตามรัฐธรรมนูญ หรือเรียกว่าใบดำนั้น ตนยังสงสัยว่าได้สัดส่วนกับความผิดหรือสิ่งที่ถูกตีความว่าเป็นจริยธรรมที่ผิดพลาดไปหรือไม่ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรต้องหันกลับมาทบทวน โดยเฉพาะเรื่องโทษให้เป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสม

เมื่อถามย้ำว่าไม่ดีหรือที่ในครั้งนี้ จะทำให้การตรวจสอบคนที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเข้มข้นขึ้น น.ส.นันทนา กล่าวว่า ความจริงแล้วเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เราก็อยากได้คนที่มีประวัติที่สะอาด ซื่อสัตย์สุจริต พร้อมๆกับคุณสมบัติด้านอื่น เช่น ความรู้ความสามารถและศักยภาพด้านต่างๆ แต่ไม่ใช่การตรวจสอบภูมิหลัง แล้วนำมาเป็นดัชนีชี้วัดเพียงตัวเดียวในการขึ้นดำรงตำแหน่ง ถ้าเป็นเช่นนี้หมายความว่าคนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งคงต้องฟูมฟักกันตั้งแต่เกิด คุณสมบัติไม่ด่างพร้อยหรือมีอะไรเสียหาย ซึ่งการวินิจฉัยแบบนี้ และบทลงโทษถือว่าไม่ได้สัดส่วน ไม่ควรย้อนพฤติกรรมในอดีตมาชี้ว่ามีพฤติกรรมผิดจริยธรรมร้ายแรง ดังนั้นควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและได้สัดส่วน แต่ยอมรับว่าควรต้องมีบทบัญญัติจริยธรรม จะบอกว่าไม่สนใจเรื่องนี้ก็ไม่ได้ ไม่ควรตรวจสอบการเฉพาะเรื่องเล็กเรื่องน้อย

เมื่อถามย้ำว่าอะไรเป็นเรื่องเล็กน้อย และกรณีของนายพิชิต ชื่นบาน ถือว่าเล็กน้อยหรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า กรณีของนายพิชิตเป็นตัวอย่างหนึ่งที่หัวหน้ารัฐบาลมองว่าอาจจะไม่ร้ายแรงที่จะตั้งเข้ามาได้ หรือกรณีของนักการเมืองอีกหลายคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตด้วยเหตุการณ์ที่ทำมาในอดีต และไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นการกระทำในปัจจุบัน ตนคิดว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับโทษนั้น.