สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เผยวิธีและขั้นตอน การปลูกมันสำปะหลัง โดยระบุว่า ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามักจะไม่ค่อยพบปัญหาด้านศัตรูพืชมากนัก โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการจัดการศัตรูพืชเพียงชนิดเดียวคือวัชพืชเป็นหลัก แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มพบปัญหาแมลงระบาดในมันสำปะหลัง เช่น เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่สร้างปัญหารุนแรงในปี 2551-2552 แต่หลังจากนั้นก็พบว่าการระบาดเริ่มลดน้อยลงและเหลือเพียงบางพื้นที่ เช่นเดียวกับการพบเพลี้ยหอยเกล็ด ไรแดง แมลงหวี่ขาว เป็นต้น ส่วนปัญหาด้านโรคพืชของเกษตรกรที่คุ้นเคยดีคือ โรคพุ่มแจ้ที่เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา โรครากและหัวเน่า โรครากปม โรคแอนแทรกโนส โรคใบจุดสีน้ำตาล แต่ขณะนี้มีโรคใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน คือโรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava mosaic Disease : CMD)

ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อ Cassava mosaic virus ซึ่งเป็นไวรัสในจีนัส Begomovirus ซึ่งมีรายงานก่อความเสียหายต่อผลผลิตของปลูกมันสำปะหลังในประเทศอินเดียและศรีลังกามากกว่า 80% คือ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ซึ่งปัจจุบันกำลังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงกับผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศเพื่อนบ้านเราเช่น เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น

คงต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่เชื้อไวรัสจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ไม่แตกต่างจากหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในข้าวโพดปัจจุบัน เนื่องจากเหตุผลดังนี้

1.ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังติดต่อกับเขตชายแดนประเทศกัมพูชาซึ่งพบการระบาดของโรคไวรัสชนิดนี้ และทางจังหวัดชายแดนของประเทศไทยมีการปลูกมันสำปะหลังจำนวนมากไม่ห่างจากชายแดนมากนัก (ทำให้ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคจากฝั่งกัมพูชามีโอกาสเคลื่อนย้ายเข้ามาในพื้นที่)

2.แมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรค เป็นแมลงศัตรูที่มีพืชอาหารกว้างมากในบ้านเรา และปัญหาอีกข้อคือมีปลูกมันสำปะหลังหลายรุ่นมาก ในพื้นที่ที่ผมไปสำรวจแปลงเกษตรกรต่างค่อยๆทยอยปลูก โดยไม่ได้ปลูกพร้อมกันทั้งหมดในพื้นที่ แมลงหวี่ขาวจึงมีพืชอาศัยตลอดเวลา จากการสำรวจพบว่าในแปลงที่โรคระบาดรุนแรง (พบอาการโรคเยอะ) โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่ติดมาจากท่อนพันธุ์แต่เกิดจากการถ่ายทอดเชื้อจากแมลงหวี่ขาวยาสูบครับ และจากการลงพื้นที่ แปลงที่พบการระบาดของโรคจะพบแมลงหวี่ขาวยาสูบจำนวนเยอะมากๆ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เมื่อเปรียบเทียบกันกับแปลงที่พบการระบาดของโรคน้อยกว่า จะพบจำนวนแมลงหวี่ขาวยาสูบน้อยกว่า

สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัด

1.การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบ นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด นอกจากแจ้งให้เกษตรกรมาฟังแล้วต้องผ่านทางช่องทางของหมู่บ้านที่พบการระบาด เช่นหอกระจายเสียงผู้ใหญ่กำนันอบต. เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักโรครู้จักพาหะโรคคือแมลงหวี่ขาวเลยครับ บางคนยังเข้าใจผิดๆว่าแมลงหวี่ขาวคือเพลี้ยแป้งอยู่เลย

2. หมั่นสำรวจแปลงให้บ่อยขึ้น หากเกษตรกรพบให้รีบแจ้งเกษตรตำบล เกษตรอำเภอในพื้นที่ด่วนเลยครับ  เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ

3.ซื้อท่อนพันธุ์มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ว่าไม่พบการระบาดของโรคนี้

4.ทำการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลงเหมือนที่เคยทำในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง เช่น สารไทอะมีโทแซม สารไดโนทีฟูแรน สารอิมิดาโคลพริด เป็นต้น  (เพราะเป็นการป้องกันกำจัดที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ตกประมาณไร่ละ4-6บาท) ในช่วงหลังมานี้เกษตรกรไม่ทำการแช่ท่อนพันธุ์เพราะไม่พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว  โดยคิดว่าเสียเวลาและเปลืองเงิน น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของแมลงหวี่ขาว

5.การป้องกันกำจัดแมลงพาหะต้องทำพร้อมๆกันทุกแปลง เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกไม่พร้อมกันหรือทยอยกันปลูก ทำให้แมลงหวี่ขาวซึ่งเป็นพาหะนำโรคมีพืชอาหารและที่อยู่อาศัยตลอดทั้งปี

6.การใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงหวี่ขาวเป็นไปได้ยากมากเลยครับ (ยิ่งกว่าหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเสียอีก) เพราะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเท่าที่สอบถามข้อมูลมาจะไม่คุ้นเคยกับการพ่นสารฆ่าแมลงเลย ส่วนใหญ่จะเคยพ่นกันแต่ยาฆ่าหญ้า และราคาสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพดีๆก็มีราคาค่อนข้างแพงหากเลือกใช้สารดูดซึมที่มีประสิทธิภาพดีอย่างพวกกลุ่ม4, 9, 23 และกลุ่ม 29 และเหตุผลสำคัญอีกข้อคือประชากรแมลงหวี่ขาวเยอะมากๆเท่าที่ทำการสุ่มตรวจนับพบเฉลี่ยมากกว่าห้าสิบตัวต่อต้น การใช้สารเคมีจึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

7.การตัดใบที่พบการระบาดเยอะๆของตัวอ่อน ออกมาทำลายน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้

8.หลังการลงมือกำจัดแมลงหวี่ขาวและต้นที่เป็นโรคพร้อมๆกันแล้วต้องเตรียมท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคไว้ให้เกษตรกรด้วย

เกษตรกรควรเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคใบด่าง และตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาหากมีปัญหาการระบาดเกิดขึ้น แต่ไม่ตื่นตกใจจนเกินไปเพราะอาการผิดปกติที่คล้ายคลึงกันกับโรคใบด่างนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1.อาการผิดปกติเนื่องจากขาดธาตุอาหาร โดยมีลักษณะอาการที่พบใบมันสำปะหลังจะมีขนาดเล็กรูปทรงอาจผิดปกติ ตัวใบมีสีซีดหรือเหลืองตรงเส้นใบ

2.อาการผิดปกติเนื่องจากถูกสารเคมี โดยมีลักษณะอาการที่พบใบมันสำปะหลัง จะมีลักษณะเรียวเล็ก เนื้อใบมีสีเขียวเข้มและอ่อนสลับกัน แต่ตัวใบแข็งและหนา