เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ชาวบ้านจากหลายพื้นที่หลายสิบคนต่างพากันนำอุปกรณ์ซึ่งประดิษฐ์ด้วยผ้าตาข่ายถี่ กว้างประมาณ 2 เมตร ยาว 2 เมตรครึ่ง มาผูกติดกับลำไม้ไผ่ขนาดความยาว 3 เมตร ที่ไขว้กันเป็นรูปตัว X ด้านล่างตาข่ายติดโซ่ขนาดเล็กถ่วงน้ำหนัก ส่วนปลายลำไม้ไผ่ด้านล่างใช้ล้อมาติด หรือใช้เป็นพลาสติกที่มีลักษณะคล้ายรองเท้าติดไว้ ไปหาจับกุ้งฝอยริมอ่างเก็บน้ำลำแชะ บริเวณหาดบ้านมะค่า ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ยามค่ำคืน เพื่อนำกลับไปประกอบอาหารเลี้ยงครอบครัวและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมช่วงที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา

โดยชาวบ้านจะใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเดินดันไปตามริมฝั่งน้ำเพื่อจับเอากุ้งฝอยที่กำลังหากินอยู่ริมฝั่งให้ติดไปในตาข่าย จกนั้นก็นำมาใส่กะละมังเพื่อแยกเอาเศษวัสดุหรือวัชพืชต่างๆ ที่ติดมาด้วยออก ก่อนที่จะนำไปทำความสะอาดและประกอบอาหารรับประทาน ซึ่งแต่ละวันชาวบ้านจะสามารถจับกุ้งฝอยได้เป็นจำนวนมาก หากมีเวลามากหน่อยบางคนก็จะสามารถจับกุ้งฝอยได้เป็นสิบๆ กิโลกรัมเลยทีเดียว และในช่วงที่รอไสกุ้งกันชาวบ้านก็จะนำเอากุ้งที่หามาได้ล้างทำความสะอาดแล้วมาปรุงเป็นเมนูกุ้งเต้น กินกันสดๆ ตามวิถีชีวิตชาวบ้านกันแทบทุกครอบครัว เพราะเป็นเมนูที่ทำง่ายและเป็นที่ชื่นชอบกันเป็นอย่างมาก

นายศักดิ์นิพนธ์ ทาไธสง อายุ 43 ปี ชาวบ้านเฉลียง ต.เฉลียง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ที่พาครอบครัวและเพื่อนฝูงเดินทางมาจับกุ้งฝอยที่อ่างเก็บน้ำลำแชะ บอกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงน้ำแดงเริ่มไหลลงเขื่อน แต่น้ำยังลดระดับลงเรื่อยเนื่องจากยังมีความจำเป็นที่จะต้องส่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นช่วงที่กุ้งฝอยจะออกหากินริมอ่างเก็บน้ำในช่วงที่มีน้ำตื้นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีต้นหญ้าขึ้นใหม่ตามริมน้ำเป็นแหล่งอาหารและหลบอาศัยจากพวกปลาต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยกุ้งพวกนี้จะออกหากินยามกลางคืน ชาวบ้านก็จะใช้อุปกรณ์ไสกุ้งที่ประดิษฐ์ขึ้นกันเองตามภูมิปัญญาของชาวบ้าน เดินไสดันไปตามริมฝั่ง รอบละประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วแต่พละกำลัง

จากนั้นก็จะนำขึ้นมาบนฝั่งแล้วเทกุ้งใส่กะละมัง เลือกเอาเศษวัสดุต่างๆ ที่ติดมาด้วยออก แล้วก็จะได้กุ้งฝอยเกือบล้วนๆ รอบละหลายกิโลกรัม เพราะกุ้งอาจจะหนีได้ไม่ไวพอเหมือนพวกปลา ทำให้ติดเข้ามาในอุปกรณ์ได้ดีกว่า ซึ่งแต่ละวันก็จะพากันได้กุ้งฝอยกันไปวันละเกือบสิบกิโลกรัม ส่วนใหญ่ก็จะนำไปรับประทานเองและทำเป็นกุ้งจ่อมเก็บเอาไว้กิน แต่หากไปขายก็จะขายกันเป็นกุ้งฝอยสดราคากิโลกรัมละ 100 บาท แต่หากทำเป็นกุ้งจ่อมแล้วก็จะขายในราคากิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดีในช่วงนี้.