เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมา ที่วัดหนองสังข์ไลอุทิศ หมู่ที่ 3 ต.บ้านนา อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ชาวบ้านร่วมกันทำบุญประเพณี “บุญข้าวประดับดิน” ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากทางภาคอีสานเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยประเพณีดังกล่าว เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญข้าวประดับดิน โดยการใช้ใบตองห่ออาหารคาวหวาน ข้าวเหนียวนึ่งสุก ผลไม้ หมาก พลู เมี่ยง และบุหรี่ ทำเป็นห่อเล็กๆ (เรียกว่า ยายห่อข้าวน้อย) แล้วนำไปวางบริเวณรอบกำแพงวัด รอบฐานเจดีย์ หรือรอบโบสถ์ ตลอดจนใต้โคนต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้การทำบุญครั้งนี้ส่งไปถึงผู้ล่วงลับและสัมภเวสีทั้งหลาย ทั้งนี้ ประเพณีบุญข้าวประดับดินยังถือเป็นวันสำคัญที่ชาวบ้านจะทำทานให้แก่ผู้ยากไร้ รวมถึงช่วยเหลือสัตว์น้อยใหญ่อีกด้วย
สำหรับประวัติของ ประเพณี “บุญข้าวประดับดิน” หรือบุญเดือนเก้า มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวสมัยพุทธกาล เชื่อว่ามีที่มาจากนิทานธรรมบทที่เล่ากันว่า “พระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร” ได้ขโมยเงินวัดในสมัยที่ยังมีชีวิต เมื่อตายไปก็เกิดเป็นเปรตในนรก ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานแด่พระพุทธเจ้า ทว่าลืมอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พอตกกลางคืนก็ทรงได้ยินเสียงผีเปรต ซึ่งเป็นพระญาติที่เสียชีวิตไปแล้วมาส่งเสียงร้องโหยหวนใกล้พระราชวัง จึงทรงกลับไปทูลถามพระพุทธเจ้าและอุทิศส่วนกุศลใหม่ จึงกลายเป็นที่มาของความเชื่อประเพณี “บุญข้าวประดับดิน” นั่นเอง
ส่วนที่ว่า “บุญข้าวประดับดิน” กับ “บุญข้าวสาก” ต่างกันหรือไม่อย่างไรนั้น ปรากฏว่า ทั้งสองประเพณีนี้เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่อง “วันและเดือน” ที่กำหนดขึ้นเพื่อทำบุญ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน (ทำบุญเดือนเก้า) ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ถือเป็นการทำบุญแบบรวมทั้งหมด ไม่จำกัดว่าต้องอุทิศไปให้ใคร ส่วนประเพณีบุญข้าวสาก (ทำบุญเดือนสิบ) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยจะจัดขึ้นเพื่อทำบุญให้แก่บรรพบุรุษและญาติผู้ล่วงลับ ซึ่งจะมีการ “ระบุชื่อ” ไว้อย่างชัดเจน.