เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีร้ายแรงในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีรถไฟขนส่งสินค้าผักและผลไม้แบบตู้แช่เย็น ข้ามพรมแดนขบวนแรกจากมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน มายังเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากนั้นขนถ่ายสินค้าทางถนนไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าเส้นทางนี้จะมีการขนส่งผัก-ผลไม้ มากกว่า 50,000 ตันต่อปี นอกเหนือจากด่านอื่นทั่วประเทศ ทั้งนี้ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่าไทยนำเข้าผักและผลไม้ ปีละนับล้านตัน ด่านสำคัญ คือด่านเชียงของ จ.เชียงราย
นายชวลิต กล่าวอีกว่า เมื่อย้อนไปในปี 2562 ขณะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาสารเคมีภาคเกษตรดังกล่าว พบว่าตามด่านชายแดนดังกล่าวไม่มีห้องแล็บสำหรับสุ่มตรวจผักและผลไม้ว่ามีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ จึงต้องส่งตัวอย่างมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งไม่ทันกับเหตุการณ์ คนไทยจึงสุ่มเสี่ยงต่อการสะสมสารเคมีในร่างกายจากการรับประทานผักและผลไม้ที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเท่ากับเป็นการตายผ่อนส่ง” สอดคล้องกับสถิติที่คนไทยมีสาเหตุการตายด้วยโรคมะเร็ง ปีละ 67,000 คน ชั่วโมงละ 8 คน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันมาหลายสิบปี จริงอยู่แม้สาเหตุการเป็นโรคมะเร็งจะมีหลายสาเหตุ แต่งานวิจัยก็พบว่า การรับประทานผัก-ผลไม้ ที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานก็เป็นสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งด้วยสาเหตุหนึ่ง
ดังนั้น หากประเทศไทยปล่อยให้มีการนำเข้าผักและผลไม้ด้วยวิธีการทุ่มตลาด ก็จะเกิดผลเสียหายกับคนไทยและประเทศไทย อย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้1.เกษตรกรไทยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะค่อย ๆ ล้มหายตายจาก เพราะศักยภาพในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการปลูก การผลิตผัก-ผลไม้ ตลอดจนพื้นที่การเพาะปลูก ฯลฯ เราไม่อาจเทียบประเทศใหญ่ ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้า หากมีการดัมพ์ราคา เกษตรกรไทยไม่อาจสู้ได้เลย 2.การสุ่มตรวจผักและผลไม้นำเข้า ว่ามีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ อย.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องสุ่มตัวอย่างส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งไม่ทันเหตุการณ์ ทำให้คนไทยตายผ่อนส่งจากการรับประทานผักและผลไม้ที่มีสารเคมีปนเปื้อนสะสมทุกวัน ๆ
นายชวลิต กล่าวว่า ตนได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาว่า เนื่องจากไทยมีข้อตกลงเอฟทีเอ อาเซียน-จีน ภาษีสินค้าเกษตร เป็นศูนย์ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรอาศัยช่องทางทางการทูตที่ควรร้องขอว่า ประเทศใหญ่จะเอื้อประเทศเล็กอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างพี่อย่างน้องเช่นในอดีตที่เคยปฏิบัติกันมา ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ต้องปฏิรูปงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างขนานใหญ่ ในการพัฒนาการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งการลดต้นทุน ที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตเพื่อตรวจสอบควบคุมการใช้สารเคมีไม่ให้มีการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ที่สำคัญ รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้าง “ค่านิยมไทย” เช่น ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ หรือไทยปลูก ไทยกิน ไทยเจริญ เป็นต้น
นายชวลิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การที่คนไทยมีการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคสำคัญ ๆ จากอาหารการกิน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย ตลอดจนการปราบปรามผู้กระทำผิด มีความจำเป็นต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบมีอยู่หลายกระทรวง และในกระทรวงเดียวกันก็มีหลายกรม ทำงานเป็นเอกเทศ ส่งผลให้งานไม่มีเอกภาพ ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ จึงสมควรยกระดับงานระบบอาหารปลอดภัย เป็นองค์กรเดียวที่มีเอกภาพ รับผิดชอบวางระบบอาหารปลอดภัยโดยเฉพาะ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงาน ลดงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่ที่ซ้ำซ้อน ที่สำคัญ จะส่งผลให้ลดค่ารักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย ทั้งจากภาครัฐและประชาชนผู้เจ็บป่วยลงได้อย่างมากเมื่อคนไทยเจ็บป่วยน้อยลง ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในทุกด้านตามมา