ความคืบหน้าในการจัดตั้ง ครม.แพทองธาร 1 ก็ยังไม่เรียบร้อยดี และกระแสที่มาแรงขณะนี้คือ การโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ทั้งที่เป็นขั้วตรงข้ามกันมานาน ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ความว่า “เท่าที่สำรวจและดูผลสำรวจต่างๆ สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือให้รัฐบาลรีบเข้ามาดำเนินการทันที และขอให้รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ขอให้จับมือร่วมกันเป็นเอกภาพมากที่สุด  ฉะนั้นคิดว่าตรงนี้ต้องให้โอกาสรัฐบาลดำเนินการ เรารู้อยู่แล้วว่าเราเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศในช่วงที่มีวิกฤติการณ์เพราะฉะนั้นทุกอย่างเราจึงเตรียมการทำงานร่วมกันและไปให้ดีที่สุดและเร็วที่สุด”

พร้อมทั้งนี้เสี่ยอ้วนยังยืนยันว่า กำหนดเรื่องการตั้งรัฐบาล 15 ก.ย.บวกลบ 3 วันจะเสร็จ หมายถึงแถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จและเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ยืนยันว่า ยังมีเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เอง ผู้สนับสนุนพรรคแสดงความผิดหวังที่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยผ่านทางเพจเฟซบุ๊กพรรค เช่นการกล่าวหาว่าไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป การเลือกตั้งครั้งหน้าสูญพันธุ์แน่ มีบางส่วนที่ประกาศไล่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคออกจากพรรค จนช่วงค่ำวันที่ 30 ส.ค. พรรคประชาธิปัตย์ได้ปิดช่องแสดงความคิดเห็นในเพจของพรรค

ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลว่า ไม่ได้แปลกใจ เพราะทราบมาตลอดว่า มีความพยายามในการติดต่อกันมา ซึ่งเป็นเหตุผลของการที่ตนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่เข้าไปคุยกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็เข้าใจว่าทิศทางจะเป็นอย่างนี้ และเห็นว่าการไปร่วมรัฐบาลครั้งนี้ กระทบกระเทือนจิตใจของสมาชิก อดีตสมาชิก และผู้สนับสนุนจำนวนมาก เพราะเขามองว่ามันขัดกับความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดถือกันมาช้านาน พรรคไม่ได้มุ่งแสวงหาในเรื่องของอำนาจโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อสูญเสียศรัทธา ก็ยากที่จะกอบกู้ศรัทธากลับคืนมา

“ไม่แน่ใจว่าแนวความคิดที่มองว่าการเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วจะช่วยสร้างผลงานเรียกคะแนนนิยมได้จริง เนื่องจากสังคมมองเห็นชัดเจนว่าการเข้าไปครั้งนี้ ไม่ได้มีผลในเชิงเสถียรภาพของรัฐบาลเพราะแม้ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลก็มีเสถียรภาพอยู่แล้ว และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีนโยบายอะไรที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปผลักดันในตำแหน่งที่ได้มา” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า ที่นายเดชอิศม์ ขาวทอง ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้พรรคเพื่อไทยมาตลอด จึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้พรรคเติบโตนั้น ก็ขอให้รอพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ คิดว่าเป็นการอยากเข้าสู่อำนาจมากกว่า

นายอภิสิทธิ์ ยังมองด้วยว่า ตอนนี้ พรรคประชาชนอยู่อยู่ในจุดที่ค่อนข้างได้เปรียบ เพราะประชาชนมองว่า พรรคการเมืองต่างๆ วนเวียนและอยู่ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความคิดอุดมการณ์

“อยากจะบอกว่าตรรกะที่บอกว่าถ้าเข้าไปมีอำนาจแล้วจะมีผลงาน มันไม่ใช่ ตรรกะนี้ถูกใช้มาแล้วเมื่อปี 2562 ส่วนตัวผมไม่ได้คิดจะไปไหน แต่จะกลับมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็ต้องเป็นอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์แบบที่ผมเข้าใจ การจะกอบกู้อะไรต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ให้เวลาในขณะนี้เป็นตัวพิสูจน์ก่อนว่าแนวทางที่ผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบันเชื่อนั้นมันเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริง หลายคนที่วิเคราะห์ก็ผิด และพรรคก็เติบโตไป แต่สำหรับผมไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร”

นายสมชาย แสวงการ อดีต สว.ผู้เคยยื่นถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ จากกรณีขาดคุณธรรมจริยธรรมที่แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติเพราะเคยต้องโทษอาญา ได้แชร์ข่าวจากสำนักข่าวอิศรามา และระบุว่า “เป็นประเด็นที่น่าสนใจ” คือคำร้องเพิ่มเติมของ “นักร้องนิรนาม” เพื่อสอย “อิ๊งค์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ลงจากตำแหน่งนายกฯ ในข้อหาเดียวกับนายเศรษฐา คือ ขาดคุณธรรมจริยธรรม

คำร้องระบุว่า น.ส.แพทองธารเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) การกระทำของนายเศรษฐาที่นำชื่อนายพิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ใช่การกระทำโดยลำพัง ก่อนแต่งตั้งนายพิชิต นายเศรษฐาในฐานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2561 เรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ข้อบังคับดังกล่าว คือข้อ 112 ว่า การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานสภา รองประธานสภา ประธาน กมธ.สามัญ รัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่นให้พิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม จริยธรรม โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กก.บห.กำหนด

และต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “พรรคการเมืองต้องมีกก.บห.พรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็น สส.หรือตำแหน่งอื่น”

การเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของ กก.บห.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค กก.บห.พรรคเพื่อไทย ที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน นำความกราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ก็ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกันด้วย

หาก กก.บห.พรรคเพื่อไทยละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอ้างว่าได้มอบอำนาจให้กับนายกฯ ไปแล้ว หรือเป็นอำนาจของนายกฯ โดยแท้ จะเป็นการขัดต่อข้อบังคับของพรรค และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กก.บห.พรรค

การกระทำของ กก.บห.พรรคเพื่อไทย ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รอบคอบระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต ในการคัดเลือกนายพิชิต ชื่นบาน เพื่อให้นายเศรษฐานำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2561 ที่ 112 และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 21 วรรค 1 จึงขอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อ กกต.เพื่อพิจารณามีคำสั่งให้ กก.บห.พรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

“เมื่อ กก.บห.พรรคเพื่อไทยปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกับนายเศรษฐาที่กราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้ง ย่อมจะต้องมีผลทางจริยธรรมเช่นเดียวกันกับนายกฯ หากพิจารณาได้ว่า น.ส.แพทองธาร ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) กกต.มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องตามว่า กกต.จะรับพิจารณาหรือไม่ พรรคเพื่อไทยจะแก้เกมอย่างไร

ปิดท้ายที่ วันที่ 1 ก.ย.จะมีการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างนายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาชน หมายเลข 1 ซึ่งเป็นผู้สมัคร อบจ.คนแรกที่เปิดตัวสมัครในนามพรรค ผู้สนับสนุนพรรคต่างคาดหวังว่าจะชนะในสนามท้องถิ่นนี้ เพราะจะเป็นสนาม อบจ.แรกที่ลงในนามพรรค และหลังจากพรรคก้าวไกลโดนยุบ ทำให้มีกระแสสนับสนุนค่อนข้างมาก นายชัยรัตน์แข่งกับนายวิวัฒน์  นิติกาญจนา หรือกำนันตุ้ย เบอร์ 2 อดีตนายก อบจ.ราชบุรี ซึ่งถือเป็นบ้านใหญ่ในพื้นที่ โดยยังไม่ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้การสนับสนุนได้เพียงใด ก็ต้องรอดูผลว่า พรรคประชาชนจะชนะการเมืองท้องถิ่นสนามแรกหรือไม่

ความคาดหวังของพรรคประชาชน คือ การเจาะการเมืองท้องถิ่นให้ได้ เพื่อไม่ให้บ้านใหญ่ผูกขาดอำนาจ

“ทีมข่าวการเมือง”