มาถึงตรังอันดับแรกที่จะต้องทำก็คือ การตื่นให้เช้ากว่าเดิมเพื่อจะได้ไปทันเมนูติ่มซำหลากหลายที่วางเรียงซ้อนกันไว้ให้เลือกตามความชอบ เพราะหากชะล่าใจออกไปสายอาจจะต้องพลาดกับบางเมนูที่จะหมดก่อน และร้านติ่มซำแต่ละแห่งไม่ว่าจะเป็นพงษ์โอชา ร้านเก่าแก่ที่มีถึง 3 สาขา ร้านเลตรัง ร้านเตอรัง รวมถึงร้านสไตล์ชิค ๆ อย่าง “เฉินเจีย” จะเปิดให้บริการแต่เช้าตรู่ และจะมีแฟนคลับมารอตั้งแต่เปิดร้าน ใครอยากลองหมูย่างเมืองตรังเลื่องชื่อด้วย บางร้านก็มีให้สั่งมาลิ้มลองด้วยเช่นกัน

เติมพลังเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาผจญภัยย่านเมืองเก่าไปกับตุ๊ก ๆ หัวกบ ช่วงที่แดดยังไม่แรงกล้าแนะนำให้ไปเช็กอินกับสตรีทอาร์ตที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองตรังที่กระจายอยู่ในเขตเมือง เริ่มด้วยปากซอยราชดำเนิน 1 กับภาพเขียน “ต้นศรีตรัง” ต้นไม้มงคลประจำจังหวัดที่จะออกดอกเป็นสีม่วงเกือบทั้งต้นในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปีแบบในภาพที่เห็น

เดินเข้าซอยถัดไปราว 100 เมตร มีภาพเขียน “ต้นยางพารา” เพื่อให้สมกับที่ตรังเป็นจังหวัดแรกที่มีการนำมาปลูก ด้วยการนำเมล็ดมาเพาะ โดยต้นยางรุ่นแรกเหลืออยู่เพียงต้นเดียวที่ถนนตรังคภูมิ อ.กันตัง ขยับไปไกลอีกหน่อยราว 500 เมตรมีภาพ “ถํ้ามรกต” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนยอดฮิตของตรังที่อยู่ที่เกาะมุก ถ้ายังไม่ได้ออกทะเลไปสัมผัสกับของจริงมาถ่ายภาพเก็บความประทับใจไว้ล่วงหน้าก่อน

จากนั้นไปชมความงดงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของ “คริสตจักรตรัง” หนึ่งในสถานที่ห้ามพลาด สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2458 โดดเด่นแปลกตาเพราะอาคารสีเหลืองมัสตาร์ดและหอระฆังที่อยู่ด้านหน้า ต่อด้วยหมู่อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ก่อนจะออกไป “วงเวียนพะยูน” อีกแลนด์มาร์คที่ใคร ๆ ต้องแวะมาเพราะพะยูนคือสัตว์อนุรักษ์ที่อยู่คู่กับทะเลตรัง ปิดท้ายด้วยอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้นำยางพาราเข้ามาปลูกที่ตรัง

ก่อนออกไปสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติโดยมีมัคคุเทศก์น้อยนำชมที่ “สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย)” ผืนป่าดิบชื้น ป่าพรุ และเนินเขาเตี้ย ๆ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,600 ไร่ มีการแบ่งเป็นส่วนพื้นที่ของกลุ่มพันธุ์พืช เช่น สวนเฟิร์น พืชกินแมลง พืชวงศ์ปาล์ม พืชวงศ์ยาง และยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชทางภาคใต้อีกหลายชนิด ภายในมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สวนรุกขชาติ สวนสมุนไพร ห้องสมุดพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พืช ห้องประชุม พื้นที่สำหรับกางเต็นท์และกิจกรรมค่ายพักแรม รวมทั้งเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติให้เลือกหลายเส้นทาง แต่ละเส้นทางจะตัดผ่านป่าดิบและป่าพรุ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ (Canopy Walk Way) ระยะทางยาว 175 เมตร ความสูงสามระดับ ตั้งแต่ 10-18 เมตร

สตูล : อุทยานธรณีสตูล Satun UNESCO Global Geopark : อุทยานธรณีโลกแห่งแรกในประเทศไทย

ข้อมูลเส้นทาง

บนเส้นทางท่องเที่ยวที่รวมความสวยงามของธรรมชาติ พร้อมกับบรรยากาศที่หลากหลาย สัมผัสความมหัศจรรย์ของแหล่งท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ในจังหวัดตรังและสตูล ทั้งได้ลิ้มรสความอร่อยของอาหารท้องถิ่น เดินทางท่องเที่ยวฟังเรื่องเล่าไปกับชุมชน เดินป่าในเมือง เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นทะเบียนเป็น Geopark ได้หลายจุด อาทิ ถํ้าที่พบซากฟอสซิลสเตโกดอน ชมเขตข้ามกาลเวลาของชั้นหินที่อยู่คนละยุคสมัย ปราสาทหินพันยอด ได้รับประสบการณ์กลับไปอย่างมิรู้ลืม

ออกจากตรังเดินทางต่อไปที่ อ.ทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ที่ตั้งของ “อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) ที่องค์การยูเนสโกให้การรับรองให้เป็น “อุทยานธรณีโลก” (UNESCO Global Geopark) สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวที่รวมแหล่งและสภาพภูมิประเทศที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาระดับนานาชาติ ณ พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีโลกสตูล ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า

ลงเรือพายลอด “ถํ้าเลสเตโกดอน” ถํ้านํ้าเค็มที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ที่ตั้งชื่อตามชื่อฟอสซิลขากรรไกรเเละฟันล่างของ “ช้างสเตโกดอน” ช้างโบราณยุคนํ้าเเข็ง ที่พบในถํ้า ด้วยความยาวนับกิโลเมตรทำให้ต้องใช้เวลาในการล่องนานถึง 3 ชั่วโมง โดยมีหินย้อยให้ชมเป็นระยะ สลับกับซากฟอสซิลสัตว์โบราณอย่างนอติลอยด์ที่อยู่ตามเพดานถํ้า

แต่หากอยากเปลี่ยนบรรยากาศ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปันหยาบาติก” ใน อ.ละงู คืออีกตัวเลือก ผ้าบาติกของที่นี่นอกจากจะแตกต่างเพราะใช้สีย้อมผ้าจากดินหินปูนผุ (เทอราโรซ่า) ที่มีในท้องถิ่นแห่งเดียวในประเทศไทยแล้ว ยังโดดเด่นด้วยลวดลายผ้าบาติกที่มีความพิเศษกว่าที่อื่น ๆ เพราะมีการนำเรื่องราวทางธรณีวิทยาของอุทยานธรณีสตูลมาประยุกต์ โดยเอาภาพจำลองสภาพแวดล้อมทะเลโบราณในยุคออร์โดวิเชียนหรือเมื่อประมาณ 444 ล้านปีก่อน มาทำเป็นลายผ้าโดยมีปลาหมึกโบราณหรือนอติลอยด์ และไทรโลไบท์ เป็นตัวเอก

จากนั้นไปชม “สะพานข้ามกาลเวลา” บริเวณที่มีการพบรอยสัมผัสของหินทั้ง 2 ยุค คือ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน (อายุประมาณ 541-485 ล้านปี) และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อายุประมาณ 485-444 ล้านปี) เกิดจากรอยเลื่อนของเปลือกโลก เปรียบเสมือนเราสามารถข้ามผ่านกาลเวลาจากยุคแคมเบรียนไปสู่ยุคออร์โดวิเชียนได้เพียงแค่ก้าวเดียวเท่านั้น

เปลี่ยนบรรยากาศไปสัมผัสวิถีชุมชน “บ้านบ่อเจ็ดลูก” เจ้าของตำนานเล่าขานเกี่ยวกับบ่อนํ้าศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 บ่อที่สันนิษฐานว่ามีการขุดมากกว่า 100 ปี ว่ากันว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกเป็นชาวเลที่อพยพมาจากเกาะที่ห่างไกล เมื่อมาปักหลักอยู่อาศัยจึงมีการขุดบ่อนํ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ปรากฏว่าเมื่อขุดไป 6 บ่อแล้วแต่ไม่สามารถใช้ได้เพราะเป็นนํ้ากร่อย จนขุดบ่อที่ 7 จึงมีนํ้าจืดออกมา ปัจจุบันบ่อทั้ง 7 ถูกเรียกว่า “โบราณสถานบ่อเจ็ดลูก”

แล้วล่องเรือหางยาวออกไป “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา” ชมความสวยงาม ณ อ่าวโต๊ะบ๊ะ แวะรับประทานอาหารแบบวิถีชาวบ้านบนเกาะ พายเรือคยัคชมประติมากรรมภูเขาหินปูนที่เกิดจากการกัดเซาะและการละลายของหินปูน จนเกิดเป็นรูโพรงและรูปทรงต่าง ๆ ที่คล้ายกับปราสาทหิน จึงเรียกว่า “ปราสาทหินเขาพันยอด” ซึ่งจะเข้าไปชมได้เฉพาะช่วงนํ้าลดเท่านั้น ชมทะเลแหวก “สันหลังมังกร” อันซีนของสตูลที่เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติกลางทะเลอันดามัน ระยะทางยาวกว่า 4 กิโลเมตร

นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปตามเส้นทาง Low Carbon ตรัง-สตูล TAT Contact Center 1672 Travel Buddy แนะนำให้วางแผนก่อนการเดินทางทุกครั้ง รวมทั้งตรวจสอบสภาพอากาศ นํ้าขึ้น นํ้าลงกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่สำคัญอย่าลืมใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่นั่งเรือ และเที่ยวแบบรักษ์โลกด้วยการพกกระบอกนํ้า ถุงผ้า เพื่อลดการใช้พลาสติก ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โทร.1672 หรือติดตาม IG : 1672travelbuddy, TikTok : 1672travelbuddy, Twitter : tat1672, Line : @tatcontactcenter และ www.tourismthailand.org

………………………………..
อธิชา ชื่นใจ