เมื่อวันที่ 31 ส.ค.รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า ชุดโครงการวิจัย”การพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง” ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับรางวัล Silver award ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)ได้รับถ้วยรางวัลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 70,000 บาท และเกียรติบัตร โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปรับถ้วยรางวัลจาก นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงอว. ในเวทีดังกล่าว ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า ชุดโครงการวิจัย”การพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง” ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นจากการท่องเที่ยว การวิเคราะห์ตลาดทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2583 (Krabi Carbon Neutral Tourism 2040) เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยกับ 22 องค์กรระดับประเทศและระดับท้องถิ่น มุ่งเน้นการคำนวณ-ลด-ชดเชยปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นจากการท่องเที่ยว
ทีมนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของม.วลัยลักษณ์ได้นำองค์ความรู้ ลงไปสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวลงไปสัมผัสวิถีชีวิต และภูมิปัญญาของชุมชน ได้ศึกษาหาความรู้จากธรรมชาติ ใช้ชีวิตให้ช้าลง กินอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่สำคัญจะสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชน ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การพายเรือคายัค การล่องเรือ การชมทิวทัศน์ รวมถึงกิจกรรมที่ลดโลกร้อน เช่น การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ รวมไปถึงกิจกรรมของการทําอาหารท้องถิ่น การนําเสนอเมนูที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ไม่ต้องนําเข้าหรือขนส่งจากนอกพื้นที่เข้ามา จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การพักในโรงแรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โรงแรมสีเขียว งานวิจัยก็จะเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นจากภาคโรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง รวมถึงประมวลว่าตรงไหนที่เป็น Pain Point เราก็จะแก้ปัญหาด้วยงานวิจัยที่มีการนําร่องทํากิจกรรมเพื่อสร้างทางเลือกให้กับการท่องเที่ยวชุมชนให้มากยิ่งขึ้น
“โครงการวิจัยดังกล่าวมีคณะผู้วิจัยร่วมจัดทำ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์วาลุกา เอมเอก สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ เป็นผู้ออกแบบบูธและร่วมนำเสนอผลงาน พร้อมด้วยอาจารย์นิรมล ระหว่างงาม สำนักวิชาการจัดการ และ จันทร์จิรา ไพฑูรย์อาสน์, สุพัตรา สาระวารี ผู้ประกอบการจากจังหวัดกระบี่ ขณะนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ถูกนำไปใส่ในโปรแกรมการท่องเที่ยวและได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มนักท่องเที่ยวแถบยุโรปและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียด้วย และมีหลายองค์กรใหญ่ระดับประเทศได้ติดต่อการจัดทริปการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่เพื่อไปทำกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น”รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว
ท้ายสุดนี้ ต้องขอบคุณหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่สนับสนุนงบประมาณวิจัยที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากและยังคงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย