เมื่อวันที่ 31 ส.ค. มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร จัดกิจกรรม “ผนึกพลังพันธมิตร ธารน้ำใจสู้ภัยน้ำท่วม” นำคาราวานถุงยังชีพชุดแรกกว่า 1700 ชุดขึ้นไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย, แพร่ และน่าน ระหว่างวันศุกร์ที่ 30 ส.ค.-จันทร์ที่ 2 ก.ย. 2567 โดยมีนายนพปฎล รัตนพันธ์ รองบรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์, นายเกรียงไกร บัวศรี ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารฯ, นายวรพล เพชรสุทธิ์ หัวหน้าข่าวภูมิภาคฯ เป็นผู้นำคณะแจกถุงยังชีพไป โดยขบวนรถประกอบด้วยรถยนต์นิสสัน เทอร์ร่า 2 คัน รถกระบะโตโยต้า รีโว่ 1 คัน รถบรรทุก 6 ล้อ 3 คัน โดยมีรถตำรวจทางหลวง สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ความอนุเคราะห์ในการนำทางไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นวันที่สองของขบวนคาราวาน ในการนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้พี่น้องผู้ประสบภัย

‘เดลินิวส์’ จับมือพันธมิตรช่วยเหลือ ‘ชาวสุโขทัย’ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

โดยจุดแรกที่บ้านเชตวัน ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ ทางคาราวานได้นำถุงยังชีพ 230 ชุด มามอบให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งจุดนี้พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลง สถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีท่วมขังอยู่ในบางจุด ตามบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ข้าวของเสียหาย มีดินโคลนอยู่ตามบริเวณบ้าน พี่น้องประชาชนเร่งทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับทางเทศบาล สำรวจพื้นที่ประสบภัยโดยละเอียด เพื่อทำการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ

นายธนิต สมสมัย ประธานชุมชนเชตวัน อ.เมืองแพร่ เปิดเผยว่า น้ำเข้ามาในชุมชนตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ระดับน้ำสูงสุดเกือบ 2 เมตร ชาวบ้านต้องย้ายขึ้นไปอยู่ชั้นของบ้าน พระภิกษุสงฆ์ต้องย้ายไปอยู่ที่สูง กว่าน้ำจะลดระดับลงต้องใช้เวลา 5 วัน ชาวชุมชนต้องช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ซึ่งได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอุปกรณ์ทำมาหากินหลายๆ อย่าง พังและลอยไปกับน้ำ ทั้งนี้ ขอขอบคุณผู้บริหาร นสพ.เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ที่เป็นห่วงเป็นใยชาวบ้าน โดยส่งผู้แทนมามอบถุงยังชีพให้กับชาวชุมชนเชตวัน

นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชนเชตวัน และชุมชนใกล้เคียง ก่อนเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดแพร่นั้น ต้องยอมรับว่ามาแบบไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากไหลมาจากพื้นที่จังหวัดพะเยา ผ่าน อ.สอง และ อ.เมือง ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าแม้สถานการณ์จะคลี่คลาย ปริมาณน้ำเริ่มลดลง แต่ก็ยังพบว่าตามบ้านเรือนของประชาชนยังมีดินโคลนอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากน้ำไหลมาจากทางด้านเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขา ซึ่งน้ำได้มาพร้อมกับดินโคลน มาตามเส้นทางน้ำ เพราะฉะนั้นเวลาน้ำลง เราจะเห็นความเสียหาย มีดินโคลนรวมอยู่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ชาวบ้านยังคงต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องอาหาร และการซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัย นอกจากนี้ ยังต้องการน้ำจำนวนมหาศาล ในการชำระล้างทำความสะอาดบริเวณบ้านและถนนหนทางต่างๆ

นางสุทธิภา พงศ์สุวีร์สินธุ อายุ72 ปี ชาวชุมชนเชตวัน ที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ตนพักอาศัยอยู่กับลูกสาวซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยขณะที่น้ำท่วม โชคดีที่ลูกสาวของตนเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ที่บ้านก็ได้รับผลกระทบข้าวของเสียหาย โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยและอุปกรณ์เครื่องออกซิเจนและเครื่องดูดเสมหะ อย่างไรก็ตามด้วยระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นเร็ว ทำให้เก็บของไม่ทัน ทรัพย์สินเสียหาย หลายคนไม่สามารถออกไปภายนอกได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดขณะนี้ คืออาหารและน้ำดื่ม ซึ่งต้องยอมรับว่าอุทกภัยในปีนี้รุนแรงมากกว่าทุกๆ ปี เกือบเท่าปี 2538 และปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นทางนายแพทย์ ทศพร ได้ประสานงานจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่มีความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงรายนี้แล้ว

จากนั้นขบวนคาราวานได้ออกเดินทางไปยังจุดที่สอง นำถุงยังชีพไปมอบให้ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ จำนวน 600 ชุด โดยนายสุภวัฒน์ ศุภศิริ นายกเทศมนตรีตำบลป่าแมต กล่าวว่า จุดนี้ ได้รับผลกระทบจากการที่มีปริมาณน้ำในแม่น้ำยมและแม่น้ำสายหลักหลายสาย ส่งผลให้มีพี่น้องประชาชนมากกว่า 3,000 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบ แม้ปัจจุบันปริมาณน้ำจะลดลง แต่พี่น้องประชาชนก็คงเดือดร้อน ซึ่งทางเทศบาลได้ลงพื้นที่สำรวจรายชื่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไปมากกว่า 70% เพื่อที่จะประสานทางการเร่งเยียวยาช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตาม ภัยนั้นมาเพียงแป๊บเดียวแล้วเดี๋ยวก็ไป แต่สิ่งที่เหลืออยู่ คือความเสียหาย ซึ่งในวิกฤติ ก็ทำให้เราเห็นน้ำใจ ว่าคนเมืองแพร่และคนไทยก็ไม่ทิ้งกัน ในยามที่เดือดร้อน อย่างไรก็ตามขอขอบคุณทางมูลนิธิฯ เดลินิวส์ตลอดจนพันธมิตร ที่มอบถุงยังชีพมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

นายนพปฎล กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนมูลนิธิฯ เดลินิวส์ และพันธมิตรต่างๆ มีความตั้งใจมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม ถึงแม้ว่าจำนวนถุงยังชีพอาจจะไม่มาก แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถบรรเทาทุกข์ของประชาชนได้ โดยมูลนิธิฯ และเดลินิวส์ พร้อมที่จะช่วยเหลือและเป็นสื่อกลางให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน หากต้องการแจ้งข้อมูลความช่วยเหลือ สามารถติดต่อทางเดลินิวส์ออนไลน์ได้ในทุกแพลตฟอร์ม

สำหรับถุงยังชีพ ชุดแรก จำนวน 1,700 ถุง จะถูกแยกนำไปมอบให้กับประชาชนในพื้นที่บ้านวังทอง-บ้านวังใหญ่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย จำนวน 400 ชุด, ประชาชนบ้านเชตวัน ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ จำนวน 230 ชุด, ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ จำนวน 600 ชุด และประชาชนใน ต.ไหล่น่าน อ.เวียงสา จ.น่าน จำนวน 400 ชุด และแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนตามรายทาง 70 ชุด

ทั้งนี้ หากประชาชนทั่วไป หรือบริษัทห้างร้านต่างๆ กลุ่มสมาคม ชมรมต่างๆ สนใจร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับเดลินิวส์และพันธมิตร สามารถนำสิ่งของที่จำเป็น อาทิ อาหารพร้อมรับประทาน ยารักษาโรค อุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ มามอบให้ที่สำนักงานเดลินิวส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ได้ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ (จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย) โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ 0-2790-1111 ต่อ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือจะบริจาคสมทบทุนได้ที่ มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล ผ่านทาง ธนาคารกรุงเทพ บัญชีออมทรัพย์ สาขาบางเขน ชื่อบัญชี มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล เลขที่บัญชี 161-5-00633-3

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ มีกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, สิงห์อาสา, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย, บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด, บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), กลุ่มธุรกิจ TCP และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)